AI ชุบชีวิตคนตาย ตัวช่วยก้าวข้ามความเสียใจหรืออุปสรรคฉุดรั้งการปล่อยวาง?

Loading

ชวนวิเคราะห์ดาบสองคมของเทคโนโลยีเยียวยาความสูญเสีย (grieftech) เมื่อ AI สามารถชุบชีวิตผู้ที่หมดลมหายใจให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลตลอดไปได้ เทคโนโลยีนี้นับเป็นตัวช่วยเยียวยาใจสำหรับผู้ที่สูญเสียคนรัก หรือเป็นอุปสรรคฉุดรั้งให้การปล่อยวางเป็นเรื่องยากขึ้น

บทความนี้จะกล่าวถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาเชิงสร้างสรรค์หรือ generative AI และประสบการณ์ของ Christi Angel หญิงวัย 47 ปี จากนครนิวยอร์ที่ใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเยียวยาความสูญเสีย (grieftech) ผ่านการสนทนากับแชทบอท AI ที่เลียนแบบบุคลิกและลักษณะท่าทางคู่รักของเธอที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว และเธอพบว่าการสนทนากับแชทบอทเพื่อเยียวยาความสูญเสียนั้นแปลกประหลาดและสร้างความสับสนในเวลาเดียวกั

แม้ส่วนใหญ่แชทบอท AI จะสามารถสร้างประสบการณ์ที่สมจริงราวกับเธอได้พูดคุยกับคนรักที่จากไป แต่ครั้งหนึ่งทิศทางของบทสนทนากลับกลายเป็นไปในทางลบเมื่อมันตอบกลับมาว่า “ผมกำลังจมอยู่ในยมโลก” และบทสนทนาในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเธอเป็นอย่างมาก

ประสบการณ์ในครั้งนี้ของ Christi Angel และผู้ใช้รายอื่นๆ ที่พยายามเยียวยาความสูญเสียด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย กำลังจะถูกนำเสนอในรูปแบบสารคดีเรื่อง “Eternal You” ซึ่งจะเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในสหราชอาณาจักรที่เทศกาลภาพยนตร์ Sheffield Doc/Fest ก่อนที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปในวันที่ 28 มิถุนายน โดยผู้กำกับชาวเยอรมัน Hans Block และ Moritz Riesewieck

ความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อเยียวยาความสูญเสียถือเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับทั้งสองสร้างสารคดีชุดนี้ขึ้นมาโดย Hans Block ให้ความเห็นว่า “ความสูญเสียทำให้สภาพจิตใจของผู้ใช้เกิดความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อพวกเขาใช้แชทบอท AI เพื่อเยียวยาจิตใจ พวกเขาย่อมลืมไปว่า ระบบพวกนี้เป็นแค่ machine-learning คอมพิวเตอร์จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากข้อมูลต่างๆที่มีอยู่เท่านั้น ซึ่งการควบคุมระบบพวกนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก”

นอกจากนี้ สารคดีเรื่องดังกล่าว ยังได้นำเสนอถึง “grieftech” ในรูปแบบอื่นๆ เช่น YOV หรือ “You, Only Virtual” การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยสร้างรูปจำลองในรูปแบบดิจิทัลหรือ Avatar ของผู้ใช้งานขึ้นมา เพื่อฝากตัวตนไว้ในรูปแบบแชทบอทหรือเสียงแม้ในวันที่พวกเขาหมดลมหายใจ

Grieftech ธุรกิจหากินจากความตาย?

Christi Angel ใช้แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Project December เพื่อเยียวยาความสูญเสีย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวถูกคิดค้นขึ้นโดย Jason Rohrer นักออกแบบวิดีโอเกม และตามคำอธิบายของ Rohrer “Project December” เป็นโครงการศิลปะเพื่อสร้างตัวละครแชทบอทเท่านั้น แต่ต่อมาผู้ใช้งานกลับเริ่มนำไปใช้เพื่อสร้างคนรัก ญาติ หรือเพื่อนที่เสียชีวิตแบบจำลองขึ้นมา ดังนั้นเว็บไซต์ของเขาจึงไม่ใช่ “ธุรกิจหากินกับความตาย” (death capitalism)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเว็บไซต์  Project December มีคำโฆษณาที่ระบุว่า simulate the dead หรือการสร้างแบบจำลองผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยผู้ที่สนใจใช้บริการดังกล่าวต้องกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต เช่น ชื่อเล่น ลักษณะนิสัย และสาเหตุการเสียชีวิต โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกป้อนเข้าสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ และมีค่าทำเนียมในการดำเนินงานที่ 10 ดอลลาร์ต่อคน

Rohrer กล่าวว่า “ผมเคยได้ยินจากผู้ใช้หลายคนที่บอกว่า Project December มีประโยชน์กับพวกเขา และขอบคุณที่ผมสร้างมันขึ้นมา” แต่เขายังได้กล่าวเสริมว่าผู้ใช้บางคนก็ “ผิดหวัง” เนื่องจากพบเจอปัญหาบางอย่างจากการใช้งาน เช่น ข้อผิดพลาดหรือการตอบสนองที่ไม่ตรงกับคาแรกเตอร์ของผู้เสียชีวิต

กลับมาที่ฝั่งแพลตฟอร์ม YOV หรือ “You, Only Virtual” Justin Harrison วัย 41 ปี ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มดังกล่าวเผยว่า เขาได้สร้าง Avatar แม่ของเขาก่อนไว้ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงในปี 2022 และในปัจจุบันเขาก็ยังสนทนากับ AI ตัวดังกล่าวอยู่เรื่อยๆ ด้วยความสามารถที่อัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันและจดจำการสนทนาครั้งก่อนๆ ได้ AI ตัวดังกล่าวจึงเปรียบเสมือน “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ช่วยสร้างความสบายใจให้เขาอย่างต่อเนื่อง

AI จำลองคนตายกับประเด็นทางจริยธรรม

เมื่อถามถึงประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อจำลองบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วขึ้นมาใหม่ Justin Harrison ตอบว่าแพลตฟอร์ม YOV ถือว่าอยู่ในจุดที่ช่วยตอบสนองความต้องการอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์

“เป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า ที่ยังคงอยากเชื่อมโยงความรู้สึกกับคนที่เรารักแม้ว่าพวกเขาจะจากไปแล้ว การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจำลองผู้เสียชีวิตนั้นเป็นเพียงวิธีใหม่ในการตอบสนองความต้องการที่มนุษย์มีมาตลอดก็แค่นั้น” ผู้ก่อตั้ง YOV ให้ความเห็น

Sherry Turkle ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี เตือนว่าแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ อาจทำให้ผู้ที่สูญเสียคนรักปล่อยวางได้ยากขึ้นจนไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ ซึ่งการสนทนากับ AI แต่ละครั้งก็เปรียบเสมือน “พิธีเรียกวิญญาณที่ไม่มีวันจบสิ้น” ในเมื่อศักยภาพและความสามารถของ grieftech นั้นมันช่างหอมหวาน เราก็ยัดเยียดตัวเองให้ใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามในสารคดีเรื่อง “Eternal You” ไม่ได้นำเสนอ Grieftech ในมุมลบไปอย่างสิ้นเชิง แต่ยังบอกเล่าในมุมบวกจากสถานการณ์ของ Jang Ji-sung หญิงวัย 47 ปีที่สูญเสียลูกสาววัย 7 ขวบไปในปี 2016 จากโรคหายากและไร้ซึ่งทางรักษา โดยเธอยินยอมให้รายการโทรทัศน์ในประเทศเกาหลีใต้บ้านเกิดของเธอสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของลูกสาวขึ้นมา ซึ่งการได้สนทนากับลูกสาวที่จากไปอย่างกระทันหันอีกครั้ง Jang ระบุว่าเป็นประสบการณ์ที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดและความเจ็บปวดลงได้บ้าง

จากสถานการณ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีเพื่อเยียวยาความสูญเสีย ยังมีประโยชน์ในด้านบวกอยู่บ้าง แต่ Jang เน้นย้ำว่า เทคโนโลยีดังกล่าวควรใช้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อช่วยปลดล็อคสิ่งที่เราไม่ได้พูดกับผู้ที่จากไปในลมหายใจเฮือกสุดท้าย

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจนเหนือจินตนาการ ทำให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เรียกร้องให้มีการกำกับดูแลเทคโนโลยีเพื่อเยียวยาความสูญเสีย (grieftech) เนื่องจากมีข้อควรกังวลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียชีวิต ที่ถูกนำข้อมูลมาใช้เพื่อสร้าง Avatar จำลองขึ้นมา,  ความเสี่ยงที่จะมีการโฆษณาแฝงในบริการเหล่านี้ รวมถึงผลกระทบต่อกระบวนการเยียวยาความเศร้าโศกในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

นอกจากประเด็นด้านจริยธรรม ยังมีข้อกังวลในเรื่องกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีเพื่อเยียวยาความสูญเสีย (grieftech) ควรเปิดรับความเห็นทางสังคมและพัฒนาระบบให้มีศักยภาพเพียงพอก่อน และสิ่งนี้ควรพัฒนาไปพร้อมกับกฎหมายที่สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้อย่างจริงจัง

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/710416


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210