- AI ดันจีดีพีโลกโตสูงสุด 15% ภายในปี 2578 หากใช้อย่างรับผิดชอบ
- ธุรกิจทั่วโลกเผชิญแรงกดดันสูง ต้องเร่งปรับตัวรับเทคโนโลยี
- สภาพภูมิอากาศอาจฉุดเศรษฐกิจ แม้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน
- ปชช. หวั่นตกงาน-ปลอมตัว ผู้เชี่ยวชาญห่วงข่าวปลอม
- ช่องว่างความเข้าใจ AI สูง จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้และความเชื่อมั่น
‘พีดับบลิวซี’ (PwC) เปิดรายงาน Value in Motion อิงจากการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ชี้ว่า ศักยภาพเอไอในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น ไม่สามารถรับประกันได้และไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ การกำกับดูแลที่ชัดเจน และความไว้วางใจจากทั้งสาธารณชนและองค์กรในสถานการณ์อื่นๆ เช่น กรณีที่ความไว้วางใจและความร่วมมืออยู่ในระดับต่ำ การกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ จะอยู่ที่ 8% หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอาจอยู่เพียง 1% เท่านั้น
ผลวิจัยยัง พบว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้เกิดขึ้นแล้ว การวิเคราะห์ของ PwC ระบุว่า แรงกดดันให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตัวเองนั้นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาใน 17 จาก 22 ภาคส่วนทั่วโลก โดยมีรายได้มากถึง 7.1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะถูกเปลี่ยนแปลงไประหว่างบริษัทต่างๆ ในปี 2568 เพียงปีเดียว แม้กระทั่งก่อนการปรับขึ้นภาษีศุลกากรทั่วโลกที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
การวิจัยของ PwC แสดงให้เห็นว่า ในทศวรรษหน้าอุตสาหกรรมต่างๆ จะปรับโครงสร้างใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในรูปแบบใหม่ นำไปสู่การเกิดขึ้นของ ‘โดเมน’ ใหม่ๆ ที่ข้ามอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า กำลังนำผู้ให้บริการไฟฟ้า ผู้ผลิตแบตเตอรี่ บริษัทเทคโนโลยี และอื่นๆ เข้าสู่โดเมนการขับเคลื่อน (mobility domain) ทำให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าใหม่ๆ ควบคู่ไปกับผู้ผลิตยานยนต์ได้
นายโมฮัมเหม็ด คานเด ประธานระดับโลกของ PwC กล่าวว่า “เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป คุณค่าใหม่จะมาจากองค์กรที่สามารถเชื่อมโยงจุดต่างๆ ข้ามขอบเขตอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมได้เพิ่มขึ้น ผู้นำธุรกิจสามารถปลดล็อกการเติบโต โดยมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ”
‘เอไอ’สะเทือนสภาพภูมิอากาศ
การวิเคราะห์ของ PwC ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าแม้ เอไอ จะมีแนวโน้มช่วยเร่งการเติบโตเศรษฐกิจ แต่ต้นทุนที่เกิดจากภัยคุกคามทางกายภาพจาก “สภาพภูมิอากาศ” อาจสร้างข้อจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แบบจำลองทางเศรษฐกิจของ PwC ชี้ว่าความเสี่ยงทางกายภาพจากสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวเกือบ 7% ภายในปี 2578 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีภัยคุกคามดังกล่าว
ทั้งนี้ การใช้ เอไอ ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ศูนย์ข้อมูล หรือ ดาต้าเซนเตอร์ใช้พลังงานมากขึ้น แต่หากมีการใช้งาน เอไอ อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจสามารถชดเชยการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ โดย PwC ประมาณการว่า การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก เอไอ จะสมดุล หากการใช้ เอไอ เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมที่ลดความเข้มข้นของพลังงานลง 0.1%
มองต่างมุมคนหวั่น ‘เอไอ’ แย่งงาน ผู้เชี่ยวชาญห่วง ‘ข้อมูลเท็จ’
ผลสำรวจล่าสุดจาก Pew Research Center เผยความเห็นที่แตกต่างระหว่าง “ประชาชน” ทั่วไป และ “ผู้เชี่ยวชาญเอไอ” เกี่ยวกับความเสี่ยงของปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่ คนทั่วไปวิตกเรื่องการแย่งงานและความเป็นส่วนตัว หากนักวิจัยกลับจับตามองภัยจากข้อมูลผิดและการปลอมแปลงตัวตน
ยุคที่เอไอกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเอไอก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มุมมองต่อความเสี่ยงเหล่านี้ กลับแตกต่างกันชัดเจนระหว่างประชาชนทั่วไปกับผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ
รายงานนี้ รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจประชาชนชาวอเมริกัน 5,410 คน ใน เดือนส.ค.2024 และผู้เชี่ยวชาญด้าน เอไอในสหรัฐ จำนวน 1,013 คน ระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค.2024 ชี้ถึงช่องว่างทางความรู้สึกและความเข้าใจเกี่ยวกับเอไอ
ความกังวลอันดับหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญถึง 70% คือการที่ เอไอ จะถูกใช้ในการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือข่าวปลอม ขณะที่ประชาชนทั่วไป 78% มองว่า ภัยใหญ่ที่สุดคือความสามารถของเอไอในการ “ปลอมตัวเป็นมนุษย์” เช่น การเลียนเสียงหรือหน้าตาเพื่อนำไปใช้ในทางมิชอบ
ขณะที่ ข้อมูลส่วนตัว และความเป็นส่วนตัว นับเป็นเรื่องที่ทั้งสองกลุ่มมีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ความกังวลเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดย 60% ของผู้เชี่ยวชาญและ 71% ของประชาชนต่างกังวลในประเด็นนี้
จุดที่เห็นความแตกต่างชัดเจนที่สุด คือ ผลกระทบต่อแรงงาน โดย 56% ของประชาชนกังวลว่า เอไอ จะทำให้คนตกงาน ขณะที่มีเพียง 25% ของผู้เชี่ยวชาญที่มองเช่นเดียวกัน เรื่องความสัมพันธ์ในสังคมเป็นอีกด้านหนึ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญมากกว่า โดย 57% กังวลว่า เอไอ จะทำให้ผู้คนห่างเหินกันมากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเพียง 37% ที่กังวลเรื่องนี้
ความตื่นเต้นกับอนาคตของ ‘เอไอ’
เมื่อถามถึงมุมมองต่ออนาคตของ เอไอ ผู้เชี่ยวชาญ 47% ระบุว่ารู้สึก “ตื่นเต้นมากกว่ากังวล” ขณะที่ประชาชนทั่วไปมีเพียง 11% ที่รู้สึกเช่นนั้น ขณะเดียวกัน 51% ของประชาชนกลับระบุว่ารู้สึก “กังวลมากกว่าตื่นเต้น” ซึ่งสูงกว่าผู้เชี่ยวชาญถึงสามเท่า (15%)
ช่องว่างระหว่างความเข้าใจของประชาชนทั่วไปกับผู้เชี่ยวชาญด้าน เอไอ เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม ขณะที่นโยบายและนวัตกรรมเกี่ยวกับ เอไอ กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเดินหน้าสู่อนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนของเทคโนโลยีเอไอ
แหล่งข้อมูล