วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย “แรงงานบ้านเฮาสิเฮ็ดเกษตรจังได๋” ถึงจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืน

Loading

วิกฤตโควิด-19 ทำให้แรงงาน 8.4 ล้านคน ในกลุ่มธุรกิจภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอื่นๆ มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง เด็กจบใหม่กว่า 5 แสนคนหางานยาก รวมถึงแรงงานกลับจากต่างประเทศด้วย คนกลุ่มนี้กว่า 40% เป็นแรงงานอีสาน สำหรับแรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระแล้ว วิกฤตครั้งนี้จึงรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

นี่ยังไม่รวมว่าในช่วงบังคับใช้มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแรงงานอีสานที่ได้รับผลกระทบเดินทางกลับคืนถิ่นราว 800,000 คน ซึ่งน่าคิดว่า เมื่อ วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย หากแรงงานบางส่วนไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้อีกแล้ว และตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด เช่น การทำเกษตรอาชีพหนึ่งที่เคยช่วยดูดซับผลกระทบทางเศรษฐกิจในคราวก่อนได้ “ควรจะเริ่มต้นอย่างไร”

จากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ และสัมภาษณ์ตัวอย่างเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนสรุปได้ว่า “การทำเกษตรต้องใช้ระยะเวลา ควรทำด้วยใจรัก โดยอาศัยความเพียรพยายาม และความอดทนเป็นที่ตั้ง โดยความสำเร็จไม่มีสูตรตายตัว จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการวางแผน และลงมือทำเป็นขั้นตอน บนความพร้อมของปัจจัยพื้นฐาน และการปรับตัวของแต่ละคน” ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไร สามารถค้นหาคำตอบได้จากบทความเรื่อง “โควิดทุเลา แรงงานบ้านเฮาสิเฮ็ดเกษตรจังได๋” ที่เขียนโดย พิทูร ชมสุข, จิราภรณ์ พินนาพิเชษฐ และ เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

Q : ทำไมภาคเกษตรจึงควรเป็นทางเลือก ทางรอดที่น่าสนใจของแรงงานอีสาน ภายหลัง วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

A : หนึ่ง : ภาคเกษตรเป็นจุดเริ่มต้นของปัจจัยพื้นฐาน (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) เป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต ดังคำกล่าว “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” การนับหนึ่งใหม่ด้วยภาคเกษตร จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานชีวิตที่ดีช่วยตอบโจทย์ความต้องการของกระแสความนิยมบริโภคที่หันมาสนใจดูแลสุขภาพ อาหารปลอดภัย รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายในอนาคตอีกด้วย

สอง : เป็นโอกาสดีของภาคอีสานที่จะได้แรงงานคนรุ่นใหม่ “หัวไวใจกล้า” มาเป็นกำลังสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และภาคเกษตรหลังจากโควิดคลี่คลาย เนื่องจากแรงงานมีความรู้ด้านเทคโนโลยี สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทดแทนทักษะและกำลังแรงงานผู้สูงอายุ ช่วยเติมเต็มสถานะครอบครัวแหว่งกลางให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เพราะถ้ามองในด้านการจัดสรรแรงงาน พบว่า แรงงานอีสานทั้งหมดกว่า 9.3 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งอยู่นอกภาคเกษตร ในจำนวนนี้ ทำงานอยู่ในสาขาอาชีพที่เปราะบางต่อการโดนเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงาน ถึง 2.4 ล้านคน โดยอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี 45% และน้อยกว่า 40 ปี ถึง 46.5% แสดงว่า ยังมีแรงงานหนุ่มสาวที่พร้อมทำงานอยู่ไม่น้อย เมื่อผนวกกับแรงงานคืนถิ่นบางส่วนที่ตัดสินใจพลิกชีวิตด้วยการทำเกษตรในวันนี้ ถือเป็นจังหวะดีที่รัฐน่าจะลองพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสนับสนุนให้แรงงานเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเกษตร

สาม : ปัจจุบันเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มผลิตภาพ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร เป็นต้นว่า เราสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ ชนิดพืช รวมถึงปัญหาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำไปวางแผน วิเคราะห์ พยากรณ์ผลผลิตในอนาคต และแก้ไขข้อจำกัดในการทำเกษตรได้ ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นมือถือ หรือระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้ยินดีให้บริการจำนวนมาก ทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและใช้งานฟรี นอกจากนี้ แหล่งข้อมูลด้านการทำเกษตรก็มีแพร่หลายกว่าในอดีต ปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ และสามารถเข้าถึงเพื่อสืบค้นศึกษาด้วยตนเองได้ในต้นทุนที่ถูกลง

สี่ : ภาคอีสานมีพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุดในประเทศ มีปริมาณฝนตกสูงกว่าภาคเหนือ ภาคกลางได้รับแสงแดดเพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำเกษตร และยังมีข้อได้เปรียบในทำเลที่ตั้งที่ช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจ การค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีน-ลาว (คุนหมิง-เวียงจันทน์) ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีหน้า เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย

Q : เมื่อชีวิตนับหนึ่งใหม่ จะเริ่มต้นทำเกษตรจังได๋ ถึงจะถูกทาง

A : หนึ่ง : เน้นทำเกษตรด้วยตนเองเพื่อประหยัดรายจ่ายทำไปพร้อมกับศึกษาเทคนิคความรู้ ทางลัดจากผู้อื่น แล้วนำมาลองทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ “อย่าด่วนตัดสินใจ อยากทำอะไรตามคนอื่น เพราะเรายังมีข้อจำกัด” ให้ยึดหลัก เริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่-เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด-เมื่อชำนาญแล้วจึงขยับขยาย-วางแผนให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน

สอง : เมื่อคุณภาพชีวิตเริ่มดีขึ้นควรพิจารณาเลือกพืช/สัตว์ที่มีศักยภาพ และตนเองมีความถนัด/ความพร้อมที่จะนำมาทำต่อยอดเป็นอาชีพหลักเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง

สาม : ขยายพื้นที่เพาะปลูกหรือต่อเติมโรงเรือนเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ช่วยสร้างรายได้ระยะยาวอาจเลือกปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ที่มีศักยภาพทางการตลาดช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ต่อหน่วยสูง

สี่ : จัดสรรพื้นที่เพื่อทำเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น ทำเกษตรแบบสวนป่า (วนเกษตร) ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจเป็นรายได้บำนาญยามเกษียณอายุ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และอำนาจต่อรอง

เลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืช / อินทรีย์หรือเคมี / และทำอย่างไรให้ยั่งยืน
  • ปลูกพืชทำเงินไว เพื่ออุดช่องรายจ่าย แล้วค่อยขยับขยาย หลังฐานะดีขึ้น โดยให้ปลูกพืชผักสวนครัว ดูแลง่าย โตไว ขายได้ราคาดี คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ต้นหอม กะเพรา โหระพา ผักชี ตะไคร้ ผักสลัด ฯลฯ เลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กไว้บริโภค ขายเมื่อเหลือ ขยับขยายพื้นที่ เมื่อพร้อม เช่น ไก่ไข่ เป็ดไข่ ฯ และอาจแบ่งพื้นที่เล็กๆ ไว้ปลูกไม้โตเร็วไว้ใช้สอย ไม้ผลไว้บริโภค

  • เลี้ยงสัตว์ – ปลูกพืชที่มีศักยภาพ หลากหลาย ทั้งแนวสูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน กินหัว เลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก/ ใหญ่ ที่ช่วยสร้างรายได้ต่อเนื่อง อย่างสัตว์เลี้ยงบ่อซีเมนต์ (ปูนา กุ้งฝอย หอยขม ฯ) หรือสัตว์เศรษฐกิจ เช่น ปลา ไก่ไข่ไก่เนื้อ สุกร โคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ ฯลฯ นอกจากนั้น อาจปลูกพืชท้องถิ่นปลูกง่าย ใช้งานได้อเนกประสงค์ เช่น กล้วย มะละกอ พืชสมุนไพร พืชคลุมดินต่างๆ พืชสร้างรายได้รายวัน เช่น ไผ่ (หน่อไม้) ชะอม กระเฉดน้ำ ผักหวาน ไม้ตัดดอก (ดอกบัว ดาวเรือง มะลิ เบญจมาศ ฯ) และผลไม้สร้างรายได้ระยะยาว มะม่วง ทุเรียน มังคุด ลำไย ฯ
  • ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เน้นพืช-ปศุสัตว์ที่มีผลิตภาพสูง มูลค่าสูง วางแผนใช้สอยพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เลือกใช้วิธีปลูกในโรงเรือน เพื่อลดความเสี่ยงจากศัตรูพืช ปลูกพืชบนนั่งร้าน ประหยัดพื้นที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เน้นใช้ระบบเทคโนโลยี หรือวางระบบน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล ขยายพื้นที่สระน้ำ เปลี่ยนแดดเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ฯ พร้อมกับทำปศุสัตว์มูลค่าสูง เจาะเฉพาะกลุ่มลูกค้าปศุสัตว์เน้นตลาดลูกค้ารักสุขภาพ เช่น ไก่ดำ หมูดำ โคขุน ฯ
  • สร้างความยั่งยืน ต่อยอดธุรกิจและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม สร้างวิสาหกิจชุมชน/ แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรเช่น รวมตัวตั้งโรงสีข้าวชุมชน โรงงานแปรรูปฯ สร้างธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้การใช้ชีวิตเกษตรกร เพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน ทำเกษตรแบบครบวงจร เพื่อความยั่งยืน

1. เกษตรทฤษฎีใหม่ (วางแผนใช้สอยพื้นที่ และปลูกพืชแบบผสมผสาน)

2. โคก-หนอง-นา โมเดล (นำการจัดสรรพื้นที่เกษตร มาใช้กับหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่เน้นให้ธรรมชาติจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบโดยมีคนเป็นส่วนเสริม)

3. วนเกษตร (จัดสรรพื้นที่เพื่อปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเหลือพื้นที่ใช้สอยอื่นๆเท่าที่จำเป็น)

ในตอนท้ายของบทความได้มีคำแนะนำไว้ด้วยว่า แรงงานอีสานบางส่วนยังคงเปราะบาง ไร้ทุน ไร้ตลาด และไร้โอกาส ในวันนี้จึงอยากให้มีนโยบายที่ช่วยขับเคลื่อนให้พวกเขาสามารถเริ่มทำเกษตร และอยู่รอดได้

  • ตลาดต้องมี หลายๆ ครั้งเราจะเห็นได้ว่าเกษตรกรจะตกม้าตายเพราะไม่มีตลาด มีของ แต่ไม่มีที่ขาย ดังนั้น ในช่วงแรกรัฐอาจจะต้องช่วยหาตลาดให้แก่เกษตรกร อาจเริ่มจากเรื่องที่อยู่ใกล้ตัว และสามารถดำเนินการได้เลย อย่างเรื่องการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างผลผลิตจากชุมชนท้องถิ่น เช่น กำหนดให้โรงเรียน โรงพยาบาล เรือนจำ อุดหนุนสินค้าเกษตรจากชุมชน ไปประกอบอาหาร เป็นต้น
  • องค์ความรู้ เคล็ดลับดีๆ ในการทำการเกษตร คนตกงานบางคนมาแบบไร้ความรู้ในการทำเกษตร และต้องการความรู้แบบเร่งด่วน ไม่ต้องการเสียเวลาลองถูกลองผิดอีก รัฐอาจจะมีการจัดอบรม โดยนำผู้ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้ ให้เขาสามารถเริ่มทำการเกษตรได้เลย พร้อมเคล็ดลับ ดีๆ เช่น วิธีการเพาะปลูกให้พืชแข็งแรง โตไว ห่างไกลโรค การทำปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น
  • น้ำ คือ ลมหายใจของการทำเกษตร แต่หลายๆ พื้นที่ยังคงขาดแคลนน้ำ รัฐควรทำให้เกษตรกรเข้าถึงน้ำให้ได้มากที่สุด เช่น การขุดสระน้ำในไร่นา หรือ “บ่อจิ๋ว” ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศที่ต้องการ หรือช่วยขุดลอกลำห้วยเป็นช่วงๆ ให้เป็นแบบ “หลุมขนมครก” เพื่อช่วยเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เป็นต้น หากมีการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เชื่อว่าแรงงานที่เดินทางกลับมา คงพอที่จะเห็นแสงไฟที่อยู่ปลายอุโมงค์ เม็ดเงินที่รัฐจัดสรรมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นควรจัดสรรลงให้ตรงจุด เหมือนเกาให้ถูกที่คัน มิเช่นนั้น เงินเหล่านี้อาจจะเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/10/09/howto-do-agricultural-in-post-covid-northeasten-of-thailand/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210