ในที่สุด คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) ก็มีมติอนุมัติโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ภายใต้ชื่อนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด
บลูเทค ซิตี้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ตั้งอยู่ในตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) บนพื้นที่ประมาณ 1,181 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ 4,856 ล้านบาท
โครงการอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประมาณ 44 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 60 กิโลเมตร และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 119 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี
เป้าหมายของบลูเทค ซิตี้ คือรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง รวมถึงกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คาดว่าเมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 8,300 คน
“กนอ.พิจารณาข้อเสนอของโครงการฯ แล้วเห็นว่าบริษัทฯมีความพร้อมในการพัฒนาโครงการฯ รวมถึงโครงการฯ มีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง มีเครือข่ายการคมนาคมที่มีศักยภาพเอื้อต่อการลงทุน คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี” วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวและว่า “โครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ถือได้ว่าตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาอีอีซีของรัฐบาล”
โครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ แบ่งเป็นพื้นที่ประกอบกิจการประมาณร้อยละ 70 และเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวรวมประมาณร้อยละ 30 โดยได้นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ การจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพ ก่อนนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ภายในโครงการ
“เมื่อเปิดดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ แล้ว คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศอีกประมาณ 33,200 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8,300 คน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว
นับได้ว่าเป็นโครงการฯมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูง เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายคือพื้นที่อีอีซี ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดภายใต้มาตรการส่งเสริมของอีอีซี ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีประจุสูง ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ความสนใจพื้นที่โครงการแล้ว
คาดว่าจะขายพื้นที่และให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปีนับจากนี้
แหล่งข้อมูล