4 มิถุนายน 2564, ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ด้านสังคมและกำลังคนดิจิทัล พร้อมด้วย ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล นำทัพพันธมิตร 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมหารือวางแผนการขับเคลื่อนโครงการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งสำหรับเยาวชน 15,700 คน ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการหลัก ได้แก่
1.โครงการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งสู่การประยุกต์ใช้ในท้องถิ่น (Coding in your area) ซึ่งมุ่งเน้นจุดประกายการเรียนโค้ดดิ้งให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ผ่านการเรียนรู้จากตัวอย่างในชีวิตประจำวันภายในท้องถิ่น เช่น การโค้ดดิ้งเพื่อควบคุมเครื่องวัดอุณหภูมิการหมักปลาร้า ควบคุมการปล่อยเมล็ดพืชทางโดรน การสร้างนวัตกรรมวัดน้ำยางพารา นวัตกรรมเครื่องวัด PM 2.5 นวัตกรรมมัสยิดอัจฉริยะ เป็นต้น และ
2.โครงการยกระดับทักษะโค้ดดิ้งสู่การสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรมอัจฉริยะ (Codekathon) ที่มีเป้าหมายให้เยาวชนได้เรียนรู้การโค้ดดิ้งอย่างเข้มข้น สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมจริงเพื่อช่วยพัฒนาชุมชนผ่านการเรียนรู้ควบคู่กับการประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์โค้ดดิ้ง 4 ด้าน ได้แก่ Smart Farm, Smart Living, Smart Community, และ Smart Environment
โดยทั้งสองโครงการมุ่งเน้นสร้างโอกาสให้เยาวชนทุกระดับชั้นได้รับการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งผ่านรูปแบบการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับโครงการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งที่ดีป้ามีเป้าหมายพัฒนาอย่างน้อย 88 ศูนย์ภายในปี 2564 นี้ นอกจากนี้ ดีป้ายังร่วมกับ 6 มหาวิทยาลัย เตรียมพัฒนาหลักสูตรการสอนโค้ดดิ้ง พร้อมจัดทำในรูปแบบคู่มือและคลิปสั้นเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งสื่อการเรียนรู้ที่คุณครูและผู้สนใจสามารถนำไปใช้ประกอบการสอนได้จริง
แหล่งข้อมูล www.depa.or.th