การแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อเลียนแบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เป็นเรื่องที่นักวิจัยด้านหุ่นยนต์ไม่เคยหยุดยั้ง แม้จะมีตัวกระตุ้นให้ทำงานได้ดีอย่างมอเตอร์ไฟฟ้า แต่เมื่อหุ่นยนต์เปลี่ยนไปใช้รูปแบบทางชีวภาพมากขึ้น ตัวกระตุ้นเหล่านั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีศักยภาพเพิ่มมากกว่าเดิม นักวิจัยด้านหุ่นยนต์จึงมองหาวิธีที่เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และต้นทุนต่ำที่สุด
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยนอร์เธิร์น อริโซนา ในสหรัฐอเมริกา นำเสนอเทคโนโลยีกล้ามเนื้อเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงแบบใหม่ พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการ Dynamic Active Systems ของมหาวิทยาลัย ทีมเผยว่าเทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยให้เคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวได้ พร้อมอ้างว่ามีประสิทธิภาพดีกว่ากล้ามเนื้อโครงร่างของมนุษย์ในหลายๆด้าน ทีมเรียกตัวกระตุ้นเชิงเส้นแบบใหม่เหล่านี้ว่ากล้ามเนื้อเทียม “คาวาทาปิ” (Cavatappi) โดยอาศัยความคล้ายคลึงกับเส้นพาสต้าอิตาเลียน
ตัวกระตุ้นแบบใหม่ดังกล่าวมีโครงสร้างเป็นขดหรือเป็นเกลียว สามารถสูบของเหลวได้ และข้อได้เปรียบที่สำคัญคือประสิทธิภาพการหดตัวสูงถึงประมาณ 45% สามารถสร้างพลังงานได้มากขึ้นทำให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับการใช้งานด้านวิศวกรรมชีวภาพ หุ่นยนต์ ทำแขนขาเทียม ที่สำคัญคือน้ำหนักเบาและราคาถูก
(ภาพประกอบ Credit : Northern Arizona University)
แหล่งข้อมูล