“เศรษฐพงค์” แนะไทยควรวางตัวเป็นกลางด้านเทคโนโลยี เปิดโอกาสประเทศต่างๆ เข้ามาแข่งขัน เป็นผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของ ปท. ชี้ รัฐควรสนับสนุนการตั้ง “สมาพันธ์ 5G for Business” จากพันธมิตรต่างชาติ ที่มีการสร้างระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรม ที่มีการเติบโตอย่างสมบูรณ์ (Maturity Industrial ecosystem)
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.64 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีข่าวจาก NTT DOCOMO ในฐานะผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ร่วมกับกลุ่มบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีต่างๆ ได้มีข้อตกลงร่วมกันในการเสนอให้ตั้งสมาพันธ์ 5G (5G Global Enterprise solution Consortium (5GEC) โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยภาคธุรกิจต่างๆ ปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีความตั้งใจจะเริ่มทำการสาธิตได้ในประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และให้บริการได้จริงในปีหน้า ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการรวมพาร์ทเนอร์ที่มีจุดแข็งในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมกันซึ่งตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง เพราะทิศทางการยกระดับประเทศไทยเข้าสู่ “Thailand 4.0” เราไม่ควรอิงกับพันธมิตรรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เพราะจะกลายเป็นว่าเราไปสร้างระบบการผูกขาดให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แทนที่จะเป็นการสร้าง “Thailand 4.0 Ecosystem” แต่จะกลายเป็นการสร้าง “Thailand 4.0 Egosystem” ขึ้นแทน รัฐบาลไทยควรให้การสนับสนุนแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้ และเป็นเรื่องน่าประทับใจที่ทางกลุ่มนี้ได้เลือกประเทศไทยในการนำความรู้ ความชำนาญ ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ เพราะที่ผ่านมาการผลักดัน 5G ทำกันอยู่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ และผู้ให้บริการและบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีไม่กี่ราย ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวการประชุมกลุ่ม Quad เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรูปแบบเป็นการประชุมออนไลน์ ของผู้นำ 4 ประเทศซึ่ง ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย โดยในที่ประชุมได้มีการหารือกันหนึ่งในนั้นก็มีเรื่อง 5G โดยที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนไม่ควรที่จะอิงเทคโนโลยีจากประเทศจีนเพียงอย่างเดียว ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าอยากจะเข้ามามีบทบาทในกลุ่มประเทศอาเซียนในเรื่อง 5G เพื่อสร้างสมดุลกับเทคโนโลยีจากประเทศจีน ตนเห็นว่าประเทศไทยควรที่จะมีท่าทีในการตอบรับกับแนวทางนี้ เพื่อแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยเป็นกลางในด้านเทคโนโลยี เนื่องจากที่ผ่านมาภาพการวางบทบาทของภาครัฐถูกเข้าใจว่า ให้ความสำคัญเทคโนโลยี 5G นี้จากจีนเป็นสำคัญ ทั้งการลงทุนภาครัฐที่มีภาพการลงทุนภาครัฐที่เน้นไปให้สอดคล้องกับนโยบาย OBOR (One Belt One Road) จากจีน หรือการเน้นการเชิญชวนการลงทุนเพื่อเข้ามาในพื้นที่ EEC เน้นไปที่บริษัท/องค์กรจากจีนเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้เราอาจถูกเข้าใจว่าเราให้ความสำคัญและสนิทสนมกับผู้ประกอบการจากจีนมากกว่าชาติอื่น ดังนั้นการวางบทบาทของภาครัฐก็ควรมีการเน้นการให้ความสำคัญกับประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นด้วย เราต้องแสดงให้เห็นถึงการรักษาดุลยภาพการลงทุนจากประเทศอื่น ๆ เราสนับสนุนเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญข้างใดข้างหนึ่งมากจนเกินไป ไม่ว่าประเทศใดจะเข้ามาเราก็เปิดรับ เราต้องเปิดให้มีการแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งจะเกิดผลดีกับประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง 5G
“ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไทยต้องมีภาพมีบทบาทที่เป็นกลางไม่เอียงไปทางประเทศไทยประเทศหนึ่ง ตรงนี้มีข้อดีคือจะมีบริษัทต่างประเทศเข้ามามากขึ้น เราเป็นสนามที่มีการแข่งขันสูง ก็ย่อมมีโอกาสจะเป็นสนามการสร้างการพัฒนา มีโอกาสในการเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หลากหลายมากขึ้น ด้านราคาก็อาจจะดีขึ้นพร้อมกับประสิทธิภาพ ที่สำคัญรัฐบาลต้องแสดงท่าทีด้วยความจริงใจ โดยอยากให้ประเทศต่างๆ มองประเทศไทยเป็นฐานในการวิจัยและพัฒนา เพราะหากเราเป็นกลางด้านเทคโนโลยี ก็เปรียบเสมือนเราเป็นตลาดนัด เป็นแหล่งรวบรวมผู้ขาย และคนเข้ามาซื้อก็จะเห็นเทคโนโลยีทั้งสองด้าน ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
แหล่งข้อมูล