นับเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน และเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงแนะนำ 7 ประเด็นนวัตกรรม พลิกฟื้นประเทศไทยในอนาคต
เนื่องจากโลกหลังโควิด-19 จะเผชิญความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ การแข่งขันรูปแบบใหม่ (New Competition) ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง (Extreme Inequality) และสภาวะโลกร้อน (Climate Change) ดังนั้น ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงสนอทางออกที่สำคัญ นั่นคือต้องเร่งสร้าง “นวัตกรรมรูปแบบใหม่” 7 ประเภท ให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ด้าน ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ดังนี้
1. นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation)
หมายถึง นวัตกรรมที่เกิดจากการปรับปรุงกระบวนการภายในจนเกิดเป็นรูปแบบใหม่ของการดำเนินธุรกิจ เช่น การที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์บางรายได้สร้างจุดขายที่แตกต่างด้วยรูปแบบการผลิตแบบ “Build-to-order” ที่ลูกค้าสามารถกำหนดสเปคของคอมพิวเตอร์ที่ต้องการได้เอง ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการขายผ่านร้านค้าปลีกได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ลูกค้าได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ตรงกับความต้องการของตัวเองจริงๆ โดยนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจนี้จะเข้ามาแทนที่วิธีการและแนวปฏิบัติที่เอื้อต่อแพลตฟอร์มธุรกิจที่ดำเนินการกันมานาน เพื่อปรับแนวทางธุรกิจนวัตกรรมที่จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรม และสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
2. นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-Based Innovation)
การพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งนําเอาทรัพยากรธรรมชาติ และศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ มาใช้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ ซึ่งในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจนั้นมีอุตสาหกรรมในพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และความก้าวหน้าทางวิทยาการ เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน กระนั้นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการลงทุน แต่ยังขาดการเชื่อมโยงกับมิติของการพัฒนาบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางวิทยาการ
ที่ผ่านมา NIA ได้ดำเนินการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมทั้งในระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน ได้แก่ ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) เมืองนวัตกรรม (Innovation City) และย่านนวัตกรรม (Innovation District) เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาใน 3 ส่วน ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การบริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีเป้าหมายหลัก คือ
- เกิดการเจริญเติบโตทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค (Regional Growth of Innovation) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ
- เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน ในท้องที่เป้าหมาย (Local Quadruple Helix, LQH)
- มีพัฒนาการด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และเกิดการใช้งานจริงในพื้นที่
3. นวัตกรรมสังคม (Social Innovation)
หมายถึง สิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ หรือรูปแบบการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อแก้ไขและตอบสนองต่อปัญหาทางสังคม นอกจากนี้ยังต้องสามารถที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในยังสังคมอื่นๆ ได้ โดยที่นวัตกรรมเพื่อสังคมนั้นจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ มีความใหม่และตรงตามความต้องการของสังคม เกิดขึ้นได้จริงและสามารถแพร่กระจายไปสู่สังคมในวงกว้างได้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม นวัตกรรมสังคมจะช่วยเร่งแก้โจทย์ทางสังคมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลของการพัฒนาให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกันอย่างแข็งขัน ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ กำไร คน และสิ่งแวดล้อม
โดยการขับเคลื่อนนวัตกรรมนี้ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะอาศัยเพียงความมุ่งมั่นตั้งใจดีของผู้ประกอบการเอกชนย่อมไม่เพียงพอ เพราะต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วย จากการเกื้อหนุนและเอื้อสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น กลไกการลดหย่อนภาษี การบ่มเพาะองค์ความรู้ ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยรับรองนวัตกรรมนั้น เพื่อให้เกิดการยอมรับ หรือการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จะส่งผลให้นวัตกรรมเกิดการแพร่กระจายและขยายผลไปยังสังคมอื่นๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องมีการติดตามผลและเสริมสร้างศักยภาพของสังคมให้สามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
4. นวัตกรรมภาครัฐ (Public-Sector Innovation)
หมายถึง แนวคิด วิธี และรูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการองค์กร การดำเนินงาน และการให้บริการ อันเป็นผลมาจากการสร้าง พัฒนา เพิ่มพูน ต่อยอด หรือประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และแนวปฏิบัติต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิด การพัฒนาประสิทธภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ
นับเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ภาครัฐของประเทศไทย สามารถปรับตัวทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ของโลก เพิ่มกลไกที่มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้ ในขณะเดียวกัน ยังช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนให้ภาคธุรกิจพัฒนาต่อไปได้ และช่วยตอบสนองต่อความต้องการ และความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการบริการภาครัฐที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นการทำงานเชิงรุง ยึดโยงประชาชนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดระบบราชการ 4.0 ขึ้น เพื่อสอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในศตวรรษที่ 21 ได้
ดังนั้น ภาครัฐของประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวต่อบริบทความเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการรูปแบบใหม่ๆ ของประชาชน ผ่านเครื่องมือเชิงนโยบาย สตาร์ทอัพประเภท GovTech การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยนวัตกรรม Sandbox และรูปแบบบริการครบวงจร (One Stop Service) ที่มีประสิทธิภาพ
5. นวัตกรรมขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Innovation)
ต้องประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ในการดึงเอาความรู้ออกจากข้อมูล วิเคราะห์ความหมายของข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงปัญญาสำหรับการแข่งขัน (Competitive Intelligence) ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และการตัดสินใจเชิงนโยบายบนฐานของข้อมูล (Data-driven Decision Making) โดยทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยต้องเร่งใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เพราะถือเป็นนวัตกรรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอนาคต สังคมกำลังจะก้าวข้ามยุคเศรษฐกิจดิจิทัลไปสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
6. นวัตกรรมกรอบความคิด (Paradigm Innovation)
หมายถึง นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงกระบวนความคิด เช่น เครื่องยนต์ของรถยนต์ในปัจจุบัน บริโภคน้ำมันน้อยลง หรือใช้พลังงานสีเขียว แต่มีความเร็วที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังรักษ์โลก นวัตกรรมนี้ถือเป็นกระบวนทัศน์ด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการนวัตกรรม คนรุ่นใหม่ และผู้นำความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ให้มีความตระหนักและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงในอนาคต เช่น สตาร์ทอัพปลี่ยนจากการกู้เงิน เป็นการหาผู้ร่วมลงทุน หรือ FinTech ที่เปลี่ยนการจัดการการเงินรูปแบบเดิมให้สะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น
7. นวัตกรรมศาสตร์และศิลป์ (Aesthetic Innovation)
Soft Power (อํานาจละมุน หรือ อํานาจแบบอ่อน) มีลักษณะสําคัญอยู่ที่การชักจูง หรือการโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามเป้าประสงค์ โดยสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ที่ดี น่าชื่นชม และยินดีที่จะให้ความร่วมมือในภารกิจต่างๆ อํานาจในลักษณะนี้ มักเป็นที่ยอมรับมากกว่าการใช้ Hard Power (อํานาจแบบแข็ง) หรืออํานาจในเชิงบังคับดังเช่นในมิติทางทหาร
ดังนั้น ประเทศไทยต้องอาศัยจุดเด่นด้าน Soft Power อย่างวัฒนธรรม ประเพณี ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ ดนตรี และกิจกรรมสันทนาการ โดยการผสมผสานเทคโนโลยี ศาสตร์ และศิลปะร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมสมัยที่แตกต่างอย่างโดดเด่น
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/21/innowations-for-thaland-recovery/