ในปัจจุบันนวัตกรรมหุ่นยนต์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเติมเต็มความต้องการของโลกยุคใหม่ในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า ในชีวิตประจำวันของเรานั้น เริ่มจะมีหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน แต่สำหรับสถานที่ซึ่งหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญก่อนใครเพื่อน ก็คงจะหนีไม่พ้นในโรงงานอุตสาหกรรม
ซึ่งหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้กระบวนการในการผลิตต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในอุตสาหกรรมที่มีการทำงานซ้ำซ้อน งานเสี่ยงอันตราย งานที่ต้องการความแม่นยำสูง ซึ่งหุ่นยนต์ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเติมเต็มในส่วนงานนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหุ่นยนต์ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว รวมถึงยังมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม หุ่นยนต์จึงถูกนำเข้ามาใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่มนุษย์มีหน้าที่เป็นผู้ควบคุม
โดยในภาพรวมของการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหุ่นยนต์นั้น ถือว่ามีสูงขึ้นทั้งการสั่งซื้อหุ่นยนต์และการจ้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านหุ่นยนต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยิ่งนวัตกรรมและความสามารถของหุ่นยนต์มีเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการในการนำเอาหุ่นยนต์ไปใช้ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะหมายถึงการที่ผู้ประกอบการสามารถที่จะผลิตชิ้นงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงาน
โดยเราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอยู่หลายรูปแบบ โดยสามารถจำแนกประเภทได้ดังนี้
1. หุ่นยนต์อเนกประสงค์
เป็นหุ่นยนต์หุ่นยนต์ที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแขนกล ที่หยิบจับส่งต่องานได้อย่างไหลลื่น และยังอาจจะมีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่องานในบางลักษณะ เช่น การประกอบชิ้นงานที่มีความละเอียด งานด้านการตรวจสอบต่าง ๆ
ซึ่งโดยปกติแล้วหุ่นยนต์อเนกประสงค์นั้น จะมีลักษณะที่สามารถทำงานในพื้นที่จำกัดได้ดี น้ำหนักเบา และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่นหุ่นยนต์ Nachi MZ07 ที่สามารถติดตั้งโดยใช้พื้นที่น้อย สามารถทำงานได้ในที่แคม และทำงานได้อย่างรวดเร็ว ยืดหยุ่น รวมถึงตัวเครื่องมีความสามารถในการป้องกันฝุ่น หยดน้ำ รวมถึงยังสามารถที่จะรองรับการทำงานในระบบ Automation อีกด้วย
2. หุ่นยนต์เชื่อม
ถือเป็นหุ่นยนต์มีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นหุ่นยนต์ที่มีการนำเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ โดยหุ่นยนต์นี้มีลักษณะเป็นแขนกลและมีส่วนปลายแขนที่เป็นหัวเชื่อมเหล็ก ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับระบบสายพานที่จะลำเลียงวัสดุเข้ามาให้แขนกลนี้ทำการเชื่อมวัสดุในจุดต่าง ๆ ตามโปรแกรมที่มีการตั้งค่าเอาไว้โดยอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นการทำงานที่รวดเร็วและมีความแม่นยำสูงกว่าการใช้แรงงานมนุษย์
เช่น Fanuc ARC Welding Robot ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่มีการออกแบบมาเพื่อให้สามารถเชื่อมไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยรองรับนักพนักได้ 20 กก. และมีระยะเอื้อม 2 เมตร รวมถึงเชื่อมได้ทั้งในระบบไฟฟ้า และเลเซอร์ รวมถึงงานบัดกรี และงานตัดต่าง ๆ
3. หุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าและวัสดุ
เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับความนิยมถูกนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และโกดังต่าง ๆ โดยมีความสามารถในงานที่หลากหลาย และแตกต่างตามความต้องการของโรงงานหรือโกดังนั้น ๆ เช่น จัดเรียงสินค้าลงกล่อง, จัดทำ Packaging สินค้า, จัดเรียงกล่องสินค้าลงบนพาเลท, ยกพาเลทไปตามจุดต่างๆของโรงงาน, ขนส่งวัสดุต่างๆในโรงงาน เป็นต้น
ซึ่งลักษณะเด่นของหุ่นยนต์ประเภทนี้คือความสามารถในการเคลื่อนตัวที่อิสระบนพื้นที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในโรงงาน
หรือโกดังต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งต่อวัสดุต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต รวมถึงในการจัดเก็บวัสดุต่าง ๆ เข้าที่ โดยในปัจจุบันนอกจากเราจะเห็นหุ่นยนต์ประเภทนี้เคลื่อนที่บนพื้นแล้ว ยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้ในลักษณะของโดรนอีกด้วย
4. หุ่นยนต์ตรวจสอบความปลอดภัย
ถือเป็นหุ่นยนต์ที่มีการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับงานที่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่จะให้มนุษย์เป็นผู้ดำเนินการได้ เช่น การตรวจสอบสารพิษที่รั่วไหลในโรงงาน, ตรวจสอบระบบไฟฟ้า, ตรวจสอบปล่องควันหรือที่สูง เป็นต้น ซึ่งหุ่นยนต์ประเภทนี้จะมีทั้งแบบที่ทำงานโดยอัตโนมัติ และแบบที่มีมนุษย์คอยควบคุม
5. หุ่นยนต์ขึ้นรูปพลาสติก
เป็นหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่ในการหยิบจับ และฉีดขึ้นรูปพลาสติก ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ ซึ่งทำได้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการทำงานแบบอัตโนมัติตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการไปจนสิ้นสุดกระบวนการการผลิต โดยมีความแม่นยำสูง ใช้พื้นที่น้อย เพราะระบบจะเห็นสายพานและแขนกลในการจับส่งวัสดุต่าง ๆ
วัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมก็เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และลดต้นทุนทั้งในด้านเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำงานที่เน้นประสิทธิภาพและความรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคอนาคตที่จะถึงอีกไม่นานนี้ เมื่อ Ai และ Iot ได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ในโรงงานจะมีความสามารถมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการที่ทำได้ง่ายขึ้น และในแง่ของความฉลาดที่หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้การทำงานใหม่ ๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.sumipol.com
เครดิตรูปภาพ
www.canva.com
www.flickr.com