การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษา โดย ครม.มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2565 ที่กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอ
โฟกัส 7 สาขาอาชีพ ได้แก่
- 1. โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน
- 2. โลจิสติกส์และซัพพลายเชน
- 3. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
- 4. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์
- 5. อาหารและเกษตร
- 6. ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน
- 7. แม่พิมพ์
คำว่า “สาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน” หมายความว่าจำเป็นต้องผลิตในทันที เพราะกำลังคนใน 7 สาขาอาชีพนี้กำลังขาดแคลน
ดังที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล โพสต์ในเฟสบุ๊ค อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล ว่าการเดินหน้าผลิตกำลังคน 7 สาขาอาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S – Curve) ได้แก่
1. สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน (ช่างซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง) ความต้องการกำลังคน (Demand) 7,280 คน (วิศวกรและช่างเทคนิค) ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) มีเพียง 5,670 คน
2. สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นักวางแผนอุปสงค์ พนักงานควบคุมยานพาหนะมืออาชีพประเภทรถบรรทุกและนักจัดการโลจิสติกส์มืออาชีพด้านสินค้าเกษตรที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ความต้องการกำลังคน (Demand) 6,623,713 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 38,970 คน
3. สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติงานหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ความต้องการกำลังคน (Demand) 11,521 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 7,140 คน
4. สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ 9 สาขา ได้แก่ นักพัฒนาระบบและนักทดสอบระบบ นักพัฒนาเกมและแอนิเมชัน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ และนักบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นักพัฒนาการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ ช่างโครงข่ายปลายทางด้านเครือข่ายใยแก้วนำแสง และนักบริหารโครงการสารสนเทศ ความต้องการกำลังคน (Demand) มากกว่า 87,427 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 29,670 คน
5. สาขาอาชีพอาหารและเกษตร นักจัดการความปลอดภัยอาหาร นักพัฒนาอาหาร เกษตรกรอัจฉริยะ กลุ่มอาชีพโคนม กลุ่มอาชีพข้าว เป็นต้น ความต้องการกำลังคน (Demand) 177,314 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 48,864 คน
6. สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน ช่างเทคนิค สาขาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และช่างเทคนิคสาขาการกลั่นและปิโตรเคมี ความต้องการกำลังคน (Demand) 2,137คน ความสามารถในการผลิตกำลังคน (Supply) 500 คน
7. สาขาอาชีพแม่พิมพ์ นำร่องในสาขาอาชีพช่างแม่พิมพ์ ยังไม่มีข้อมูล Demand และ Supply เนื่องจากจะนำร่องในสาขาอาชีพแม่พิมพ์โดยจัดทำโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องและต่อเนื่องกันไป
เมื่อมองจากตัวเลขจะเห็นว่าอัตราความต้องการมีมากกำลังการผลิตหลายเท่า เช่น สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นำร่องใน 3 สาขาอาชีพ ได้แก่ นักวางแผนอุปสงค์ พนักงานควบคุมยานพาหนะมืออาชีพประเภทรถบรรทุก (Smart Driver) และนักจัดการโลจิสติกส์มืออาชีพด้านสินค้าเกษตรที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ความต้องการกำลังคนจากแหล่งต่างๆ (Demand) 6,623,713 คน แต่ความสามารถในการผลิตกำลังคน (Supply) ทำได้เพียง 38,970 คน ยังมีจำนวนที่ต้องผลิตกำลังคนเพิ่มเติม (GAP) อีกถึง 6,584,743 คน
ขณะที่นโยบายการผลิตกำลังคนนั้น กระทรวงศึกษาธิการ รายงานว่า คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จำนวน 7 คณะ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนใน 7 สาขาอาชีพดังกล่าว วางกรอบการดำเนินการจัดทำแผน ประกอบด้วย
1. ศึกษาความต้องการกำลังคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยร่วมมือกับสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสามารถปรับตัวสอดรับกับทักษะ/สมรรถนะที่ทันสมัยและจำเป็นต้องมีภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีกลไกในการประมาณการความต้องการกำลังคนอย่างเป็นระบบ รวมถึงวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอาชีพในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนั้นๆ กับอาชีพที่มีความสำคัญหรือขาดแคลน
2. กำหนดระบบการพัฒนากำลังคน โดยการนำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นแกนหลักในการกำหนดหลักสูตร ทั้งในภาคการศึกษาและหลักสูตรการอบรมในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงออกแบบการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อพัฒนากำลังคนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
3. พัฒนาเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพกับระดับคุณวุฒิการศึกษาและการฝึกอบรม เช่น วิเคราะห์มาตรฐานอาชีพที่มีอยู่เดิม/ปรับปรุงเพิ่มเติมตามความต้องการกำลังคน เป็นต้น
4. กำหนดรูปแบบและแนวทางปฏิบัติการเทียบโอนประสบการณ์การยกระดับทักษะ (Up – Skills) และปรับทักษะ (Re – SkiIls)
5. กำหนดครุภัณฑ์และสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็นสำหรับการพัฒนากำลังคน
6. เสนอแนวทางการพัฒนาครูและครูฝึกในสถานประกอบการ เช่น จัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาครูให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เป็นต้น
7. เสนอรูปแบบการวัดผล ประเมินผลสมรรถนะผู้เรียนที่มีประสิทธิภาพ
8. ส่งเสริมการมีงานทำและการมีรายได้ที่เหมาะสม
9. องค์ประกอบอื่นๆ เช่น การเชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่า 7 สาขาอาชีพจะใช้งบประมาณเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 5,687.71 ล้านบาท โดยความสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ 7 สาขาอาชีพเป็นกลไกสำคัญในการสร้างต้นแบบการผลิต และพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มีการยกระดับการเรียนการสอนทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา รวมทั้งร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมสร้างกำลังคนคุณภาพของประเทศให้มีเพียงพอ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S – Curve) และรองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/10/7-career-fields-graduated-without-unemployment/