ต้องยอมรับว่าในอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาหนึ่งของชาวสวนผลไม้ที่ต้องประสบก็คือเมื่อผลผลิตออกมาพร้อมๆ กันทำให้ราคาตกต่ำ เนื่องจากซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ไม่ขายก็ต้องขาย เพราะเก็บเอาไว้ก็เน่าเสีย บางสวนถึงขั้นยอมขาดทุน ขนมาเทกองริมถนนขายเหมือนแจกฟรี
แต่หากมีห้องเย็นขนาดใหญ่จำนวนหลายๆ ห้อง เก็บรวบรวมผลไม้ในช่วงราคาตกไว้ก่อน เพื่อนำมาขายในช่วงจังหวะที่ราคาขยับสูงขึ้นก็จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้
นำมาสู่แนวคิดการจัดทำโครงการ “ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) หรือ EFC” ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC หนึ่งในพื้นที่มีการปลูกผลไม้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อาทิ เงาะ ทุเรียน มังคุด
โดยจะมีการจัดทำระบบห้องเย็นขนาดใหญ่ (Blast freezer & Cold storage) เพื่อเก็บรวบรวมผลไม้ในภาคตะวันออกและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่ออกมาพร้อมๆ กันไว้ขายในช่วงฤดูขาดแคลน ในสภาพที่สด ใหม่ รสชาติดีเหมือนเพิ่งเก็บมาจากต้นยังไงยังงั้น
นำร่องด้วยห้องเย็นเก็บผลไม้ทันสมัยขนาด 4,000 ตัน ซึ่ง ปตท.เป็นผู้ลงทุน ด้วยการนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ เป็นเทคโนโลยี Blast freezer รักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี ไม่ต้องรีบตัด-รีบขาย-รีบส่ง เช่นในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
จริงๆ จะว่าไปแล้ว โครงการนี้ตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2560 แต่ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม เพราะมีปัญหาด้านการจัดหาพื้นที่และการชักชวนผู้ประกอบการด้านผลไม้เข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ เป็นเหตุให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ต้องดึงโครงการดังกล่าวมาดำเนินการเอง เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ตามแผน และเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม
ภายในพื้นที่ระเบียงผลไม้ นอกจากการสร้างห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลไม้แล้ว ยังมีอาคารคลังสินค้า อาคารโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ อาคารสำนักงานด้านสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการในส่วนของผลไม้ที่จะส่งเข้ามาจำนวนหลายแสนตัน ร่วมกับแนวทางประชารัฐให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดย สกพอ. จะประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เข้าไปลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ผลไม้ วางกลไกการบริหารและประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาบริหารโครงการ โดยเฉพาะเอกชนผู้เชี่ยวชาญการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประโยชน์จากโครงการกลับไปสู่ประชาชนในพื้นที่ คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ถือเป็นก้าวสำคัญในวงการผลไม้ไทยจากความร่วมมือ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย
1. ปตท. เป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นนำร่องทันสมัยขนาด 4,000 ตัน (ระยะที่ 1) นำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี
2. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่โดยกำหนดบริเวณส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรม Smart Park มาบตาพุด จังหวัดระยอง ระยะเริ่มต้น 40 ไร่ ซึ่งได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่จะได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการ EEC
3. สกพอ. ประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบห้องเย็นและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับผลไม้ ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “เมื่อโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกสำเร็จ ชาวสวนจะมีรายได้ดีมั่นคง สม่ำเสมอ รวมทั้งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตรแข่งขันได้ทั่วโลก เสริมความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก”
เช่นเดียวกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม มั่นใจว่าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชาวสวนแล้ว ยังจะดึงดูดให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องเข้ามาลงทุนในนิคมฯเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน การกำหนดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านการตลาดของเกษตรกร
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC ที่ปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตาม “ความต้องการของตลาด” (Demand Driven Approach) คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปสู่วิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องการของตลาด ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ
1. ศึกษา ติดตาม ความต้องการของตลาด ในเรื่องนี้ สกพอ. กำลังศึกษาความต้องการตลาดต่างประเทศและในประเทศของผลไม้ในภาคตะวันออก เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ
2. การวางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-auction รวมทั้งการลงทุน packaging จากวัสดุธรรมชาติ ให้สามารถขนส่งทางอากาศได้สะดวก เพื่อให้ผลไม้ของภาคตะวันออกเข้าสู่ตลาดสากลได้ทันที
3. การลงทุนทำห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
4. การจัดระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตพรีเมียมตรงความต้องการของตลาด ส่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรโดยถ้วนหน้า
“โครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย ก่อนขยายไปสู่ผลไม้อื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหารทะเล ที่ต้องการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้สดใหม่ สีสันน่ารับประทาน สามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมแปรรูป การประมูลสินค้า และการส่งออก” นายคณิศ กล่าว
นางสาว สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวถึงความพร้อมการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ว่า นอกจากจะเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ มีมาตรฐานระดับสากล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ
ล่าสุดวันจันทร์ 25 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทั้ง 3 หน่วยงานคือ สกพอ. ปตท. และ กนอ. ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC )
โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อาคาร กสท โทรคมนาคม ชั้น 25
ว่ากันว่า ถ้าโครงการนี้ขับเคลื่อนได้ตามแผน จะเป็นแรงผลักดันสำคัญทำให้ประเทศไทยกลายเป็นมหานครผลไม้โลกกันเลยทีเดียว
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.salika.co/2021/01/27/efccity-of-fruits-change-the-lives-of-farmers