สภาดิจิทัลชงบอร์ด AI แห่งชาติ ขยายลงทุน AI ภาครัฐ

Loading

สภาดิจิทัลเสนอบอร์ด AI แห่งชาติ เพิ่มวงเงินลงทุนด้าน AI ภาครัฐ เจียด 0.05 – 0.1% ของจีดีพี ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 9,200–18,500 ล้านบาท ก็จะทำให้วงเงินลงทุนของไทยแซงหน้าสิงคโปร์ มาเลเซีย ช่วยเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน ติดปีกไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค แต่ต้องบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ยกกรณีศึกษา Deepseek บริษัท AI ของจีนที่ทำให้ทุกคนเข้าถึง AI ได้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลได้นำเสนอ 5 แนวทางยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของภูมิภาค ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ หรือบอร์ด AI โดยข้อเสนอ 5 แนวทางยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ส่งเสริมการใช้งาน AI อย่างเต็มศักยภาพ มุ่งผลักดันการประยุกต์ใช้ AI ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่อนาคต

2.พัฒนา AI ของชาติ (Sovereign AI) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordability) โดยการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน AI อย่างเป็นระบบ เช่น GPU (Graphics Processing Unit) และโมเดลโอเพนซอร์ส (Open Source Model) เพื่อยกระดับความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ภายในประเทศ และเปิดกว้างให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างกรณีของ Deepseek บริษัท AI ของจีนที่พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่แบบโอเพนซอร์ส ซึ่งได้รับความนิยมถูกดาวน์โหลดไปใช้มากมาย โดยมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาถูกกว่าบริษัท AI อื่นๆ

3.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและจริยธรรมในการใช้งาน AI (Ethical AI) เน้นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ด้วยการพัฒนากรอบกฎหมายและข้อบังคับที่ทันสมัย เพื่อป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ การปลอมแปลงข้อมูล และการคุกคามความเป็นส่วนตัว

4.ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้พัฒนา AI โดยเสนอแนวทางดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก โดยให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศไทย พร้อมประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญด้าน AI และระบบการศึกษาของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก

5.เพิ่มวงเงินการลงทุนด้าน AI ของภาครัฐ (Government Spending) โดยเสนอให้พิจารณาตั้งเป้าหมาย อย่างน้อย 0.05-0.1% ของมูลค่าจีดีพีประเทศ หรือประมาณ 9,200-18,500 ล้านบาท (คิดจากมูลค่าจีดีพีประเทศในปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 18.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนด้าน AI ของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจหลักของสภาดิจิทัล ซึ่งมีกรอบแนวคิดการขับเคลื่อน AI ใน 5 ด้าน ได้แก่

1.กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดสำคัญทางด้าน AI (KPI)

2.สร้างกลไกตลาดที่เอื้อต่อการเติบโตของ AI ผ่านมาตรการส่งเสริมและแรงจูงใจต่างๆ (Market Mechanism) ผ่านสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและการลงทุน นโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐ การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ และการตั้งองค์กรกลางของรัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย

3.พัฒนากำลังคนด้าน AI ในทุกระดับ ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร AI ยกระดับบุคลากรให้มีทักษะ AI การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาทำงานในประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้ และจัดงานแข่งขัน AI ระดับชาติ

4.การเสริมศักยภาพในการเข้าถึงและการใช้งาน AI ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อย่างปลอดภัย และมีจริยธรรม

5.การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้าน AI ผ่านการเพิ่มงบประมาณ R&D การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของ Open AI Infrastructure รวมถึงผลักดันการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทาง AI ด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2857517


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210