เร้ดแฮท แนะ 6 ทักษะสำคัญ เตรียมตัวให้พร้อมรับมือยุค AI ครองโลก

Loading

เร้ดแฮท ชี้ทักษะสำคัญที่มนุษย์ควรพัฒนาในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนจนถึงการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและกลายเป็นส่วนสำคัญของการทำงานในหลายอุตสาหกรรม หลายคนในแวดวงเทคโนโลยีเริ่มกังวลเกี่ยวกับอนาคตของอาชีพ เนื่องจากการใช้ AI อาจทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานบางประเภทได้ดีขึ้นและรวดเร็วกว่ามนุษย์

นางสาวเด็บ ริชาร์ดสัน, Senior Content Strategist จากเร้ดแฮท กล่าวว่า หลายคนกังวลว่าเครื่องมือด้าน AI ที่มีอยู่อย่างมากมายจะกระทบต่ออนาคตด้านการงานและอาชีพของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำงานที่น่าทึ่งได้จากคำสั่งง่าย ๆ เพียงไม่กี่คำ

ความสามารถของ Generative AI (Gen AI) เช่น การสร้างโค้ด เขียนคอนเทนต์ทางการตลาด ออกแบบกราฟิก สร้างสรรค์งานศิลปะได้หลากหลายสไตล์ สร้างวิดีโอเต็มรูปแบบพร้อมสคริปต์และเพลงประกอบ คิดแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ พัฒนาโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และอื่น ๆ อีกมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับโอกาสในการจ้างงานในอนาคต

แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปในทางลบเสียทั้งหมด แม้ว่าการเรียนรู้การใช้เครื่องมือ AI อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนในแวดวงเทคโนโลยี แต่ยังมีความสามารถบางอย่างของคนที่เครื่องจักรไม่อาจเทียบได้ เช่น การคิดและตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ความเข้าใจที่เกิดจากความเห็นอกเห็นใจ ทักษะมนุษย์เหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ และสามารถรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนได้

เพื่อรับมือกับโลกที่มี AI เป็นส่วนสำคัญในการทำงาน เร้ดแฮทได้แนะนำทักษะที่มนุษย์ควรพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในแวดวงเทคโนโลยี

1.ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

AI สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ความสามารถในการแก้ปัญหานั้นไม่สามารถเทียบกับมนุษย์ได้ แม้ว่า AI จะสามารถสร้างโค้ดได้ แต่มนุษย์ต้องเป็นผู้ออกแบบระบบที่มีประสิทธิภาพ ขยายขนาดได้ แก้ไขปัญหาที่ไม่คาดคิด และเฝ้าระวังจุดบกพร่องและปัญหาความปลอดภัยที่ AI อาจนำมา แม้ AI จะช่วยตรวจจับความผิดปกติด้านความปลอดภัยได้ แต่คนต้องเป็นผู้ประเมินและจัดอันดับความสำคัญของความเสี่ยงเหล่านี้

ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถดำเนินการซ้ำ ๆ ได้มากมาย แต่ก็ยังต้องอาศัยวิจารณญาณของคนในการออกแบบอย่างรอบคอบและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ในทางการตลาดและการสื่อสาร เครื่องมือ AI ที่วิเคราะห์ความรู้สึกจากข้อความ (sentiment analysis) ช่วยตรวจจับประเด็นปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่การตัดสินใจเลือกแนวทางรับมือ หรือการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ยังต้องพึ่งพาการตัดสินใจของคน การพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ตามประสบการณ์ แต่หากต้องการฝึกฝนอย่างเป็นระบบมีบทความและหลักสูตรมากมายที่ช่วยในการเรียนรู้ได้อย่างมีแบบแผน

2.ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ

 AI ยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ ด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs) ที่มีข้อจำกัดจากการเทรนและข้อมูลที่ใช้ในการเทรน หากองค์กรใดกำลังใช้เครื่องมือ AI เหล่านี้ ควรให้คนขององค์กรได้ฝึกฝนทักษะในการประเมินผลลัพธ์ของ AI อย่างมีวิจารณญาณ เข้าใจข้อจำกัดของเครื่องมือ และเรียนรู้วิธีระบุอคติของโมเดลและผลลัพธ์ ที่อาจมีปัญหาได้

แม้ AI จะเก่งในการตรวจจับรูปแบบต่าง ๆ แต่การตีความอย่างถูกต้องและการสังเกตความผิดปกติที่อาจถูกมองข้ามยังคงต้องอาศัยคน เช่นเดียวกับการจัดการกับอคติและประเด็นจริยธรรมที่ซับซ้อนก็ต้องอาศัยสติปัญญาและความเข้าใจของคน การคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณสามารถพัฒนาได้จากประสบการณ์ แต่ก็สามารถฝึกฝนได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น หลักสูตรออนไลน์จาก LinkedIn Learning, Khan Academy และ Udemy รวมถึงหนังสือที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านนี้

3.ทักษะการทำงานร่วมกัน

การทำงานร่วมกันในทีมเป็นทักษะสำคัญที่มนุษย์มีความสามารถเหนือกว่า AI ในการสร้างความสัมพันธ์และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างนวัตกรรม ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ผู้พัฒนาจะต้องทำงานใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ และโครงการ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งการทำงานร่วมกันมีความสำคัญในโปรเจ็กต์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส การพัฒนาเครื่องมือ AI จำเป็นต้องใช้การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูงสุด การพัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในทุกทีม

4.ทักษะการสื่อสาร

โดยทักษะการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญในทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะในเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญต้องสามารถอธิบายแนวคิดทางเทคนิคและแผนเชิงกลยุทธ์ให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างชัดเจน ซึ่ง AI ยังไม่สามารถทำได้ ความสามารถในการสื่อสารยังมีความสำคัญในทุกๆ แง่มุม เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องสามารถตีความผลลัพธ์ที่ได้จาก AI และสื่อสารข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นให้ฝ่ายบริหารหรือทีมที่ไม่ใช่ทีมเทคนิคเข้าใจได้

การสื่อสารเป็นหัวใจของการตลาดและการประชาสัมพันธ์ แม้เครื่องมือ AI สามารถให้การวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึกได้ แต่คนคือผู้สร้างสรรค์และบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ที่โดนใจผู้ที่เราต้องการเข้าถึง

5.ทักษะการปฏิบัติอย่างรู้จริง

โดย AI เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งขณะนี้ถูกนำไปใช้งานในแทบทุกอุปกรณ์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว AI ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ความสามารถในการประเมินความเป็นไปได้รวมถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีหรือโซลูชันต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน เป็นจุดแข็งที่มนุษย์สามารถทำได้ดีกว่า AI เพราะสามารถเลือกโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์จริงได้

การเป็นนักปฏิบัติที่รู้จริงไม่ได้หมายถึงการมองโลกในแง่ลบ แต่เป็นการมองแนวทางหรือโซลูชันที่มีศักยภาพในมุมมองที่เป็นจริงและรอบคอบ การฝึกฝนการปฏิบัติอย่างรู้จริงสามารถทำได้โดยการมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์จริงและเลือกโซลูชันที่ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริง

6.ทักษะการปรับตัว

ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทักษะในการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ทักษะการปรับตัวในที่ทำงานคือการสร้างทัศนคติที่ยืดหยุ่น เปิดใจให้กับสิ่งใหม่ ๆ และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวจะช่วยให้มนุษย์มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/ai/627217


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210