‘อังกฤษ’ ทดลอง ‘หรี่แสงอาทิตย์’ หวังใช้แก้ปัญหาโลกร้อน

Loading

  • สหราชอาณาจักรทดลองทางวิศวกรรมธรณีกลางแจ้ง เพื่อ “หรี่แสงอาทิตย์” ให้เบาลง ปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องถึงพื้นผิวโลก
  • หากประสบความสำเร็จ อาจช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวและอันตรายที่เกิดจากวิกฤติภูมิสภาพอากาศได้ชั่วคราว ช่วยยืดเวลาในการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกที่จำเป็น
  • แต่วิธีนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะอาจส่งผลที่ไม่พึงประสงค์อย่างร้ายแรง เช่น ฝนที่ตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วม กระทบกับการผลิตอาหาร

สำนักงานวิจัยและการสร้างสรรค์ขั้นสูง (ARIA) จัดสรรเงิน 66.5 ล้านดอลลาร์ สำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักรทดลองทางวิศวกรรมธรณีกลางแจ้ง เพื่อ “หรี่แสงอาทิตย์” ให้เบาลง โดยการทดลองนี้จะมีขนาดเล็กและได้รับการประเมินอย่างเข้มงวด พร้อมส่งข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวให้หน่วยงานต่าง ๆ

เนื่องจากโลกไม่สามารถหยุดยั้งการปล่อยก๊าซที่เพิ่มขึ้นได้ จนทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ หนึ่งในวิธีที่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างเร่งด่วน คือ “วิศวกรรมธรณีศาสตร์พลังงานแสงอาทิตย์” (Solar Geoengineering)

การจัดการการแผ่รังสีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Radiation Management หรือ SRM) เป็นหนึ่งในวิศวกรรมธรณีศาสตร์พลังงานแสงอาทิตย์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องถึงพื้นผิวโลก เช่น การปล่อยกลุ่มอนุภาคที่สะท้อนแสงขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หรือใช้สเปรย์น้ำทะเลเพื่อทำให้เมฆมีความสว่างมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมี การทำให้เมฆเซอร์รัสบางลง โดยจะเป็นการหว่านนิวเคลียสน้ำแข็งลงในเมฆเซอร์รัสบาง ๆ ในชั้นโทรโพสเฟียร์ตอนบน เพื่อลดอายุขัยของเมฆและเพิ่มการระบายความร้อน

หากประสบความสำเร็จ อาจช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวและอันตรายที่เกิดจากวิกฤติภูมิสภาพอากาศได้ชั่วคราว ช่วยยืดเวลาในการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกที่จำเป็น แต่วิธีนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะอาจส่งผลที่ไม่พึงประสงค์อย่างร้ายแรง เช่น ฝนที่ตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วม กระทบกับการผลิตอาหาร

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่าวิธีนี้อาจทำให้ทั่วโลกผ่อนปรนมาตรการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศที่สำคัญที่สุด จนทำให้การทดลอง SRM ที่เคยวางแผนไว้ก่อนหน้านี้บางส่วนถูกยกเลิกไป หลังจากมีการคัดค้านอย่างหนัก

ศ.มาร์ค ไซมส์ ผู้นำโครงการ ARIA กล่าวว่า ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องเร่งทำการศึกษาวิจัยด้านวิศวกรรมธรณีฟิสิกส์พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น การพังทลายของกระแสน้ำในมหาสมุทรและแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคนทั้งโลก

“หลังจากพูดคุยกับนักวิจัยหลายร้อยคน จนได้ข้อสรุปว่าเราขาดข้อมูลทางกายภาพ เพื่อทำความเข้าใจวิศวกรรมธรณีศาสตร์พลังงานแสงอาทิตย์อย่างถ่องแท้ การสร้างแบบจำลองและการศึกษาในอาคารเป็นสิ่งสำคัญในฐานะข้อกำหนดเบื้องต้น แต่สามารถบอกอะไรเราได้ไม่มากนัก”

ศ.ไซมส์ บอกว่าในการทดลองจะไม่มีการปล่อยสารพิษใด ๆ ออกมา การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะถูกเผยแพร่ก่อนการทดลองกลางแจ้ง และจะมีการปรึกษาหารือกับชุมชนในท้องถิ่น

แต่ใช่ว่าทุกคนใน ARIA จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์อาวุโสระบุว่าโครงการนี้เป็น การเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการลดการปล่อยมลพิษ โดยพวกเขาเรียกโครงการ SRM ว่าบ้าไปแล้ว คล้ายกับการรักษามะเร็งด้วยแอสไพริน

ขณะที่ ไมค์ ฮูล์ม ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า โครงการนี้ผลาญงบประมาณวิจัยสาธารณะของสหราชอาณาจักรอย่างสิ้นเปลือง ควรนำเงินไปลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีขั้นสูงในการขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ พร้อมระบุว่า การจัดการเมฆและองค์ประกอบของบรรยากาศ เพื่อสร้างม่านบังแดดให้กับโลกเป็นเรื่องแหกตา

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2025 สภาวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NERC) ได้ประกาศแผนงานวิจัยด้านวิศวกรรมธรณีมูลค่า 10 ล้านปอนด์ เพื่อศึกษาผลกระทบของการแทรกแซงวิศวกรรมธรณีจากแสงอาทิตย์

แผนงานนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการทดลองกลางแจ้งครั้งใหม่ แต่จะใช้การสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่มีอยู่ และสิ่งที่คล้ายคลึงกันตามธรรมชาติ เช่น การปะทุของภูเขาไฟ และการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง

“บทบาทของเราคือการให้ข้อมูลหลักฐานที่ดีที่สุดและมั่นคงที่สุด แต่ไม่สนับสนุนวิศวกรรมธรณี ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม” เคท แฮมเมอร์ ผู้อำนวยการของ NERC กล่าว

เงินทุนทั่วโลกสำหรับการวิจัยวิศวกรรมภูมิอากาศค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศโดยรวม ที่มีอยู่เพียงหลายร้อยล้านดอลลาร์เท่านั้น ตามที่ดร.พีท เออร์ไวน์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าว โดยสหรัฐเป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่ที่สุด แต่ในตอนนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลดทุนการวิจัยภูมิอากาศลง ซึ่งอาจทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่ที่สุดแทน

ศ.จิม เฮย์วูด แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์และผู้รับทุนจาก NERC กล่าวว่าโครงการ SRM อาจทำได้จริงภายในอีก 10 ปี แต่แนวคิดทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการหารือ เพราะหากไม่เช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ในตอนนี้ไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศใด ๆ ที่จะควบคุมโครงการวิศวกรรมธรณีได้

“เราทราบดีว่า SRM อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคำถามวิจัยที่สำคัญ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรวบรวมผู้คนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเพื่อทำความเข้าใจถึงผลที่ตามมา” ดร.เซบาสเตียน อีสแธม แห่งวิทยาลัยอิมพีเรียลแห่งลอนดอนกล่าว

ขณะที่ โฆษกของ ARIA กล่าวกับ Newsweek ว่า โครงการ SRM ไม่สามารถใช้แทนการลดการปล่อยคาร์บอนได้ เพราะการลดคาร์บอนเป็นวิธีเดียวในระยะยาวและยั่งยืนในการลดความเสี่ยงในการเผชิญกับจุดเปลี่ยนของสภาพอากาศ แต่โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ถูกออกแบบมา เพื่อสำรวจแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดอุณหภูมิโลกในระยะสั้นอย่างจริงจัง โดยสามารถดำเนินการควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1179199


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210