“ทรัพย์สินทางปัญญา = แต้มต่อทางธุรกิจ กุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้” เป็นทั้งคำนิยามและหัวข้อบทความที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ต้องการสื่อสารให้ทุกคนได้รู้ถึงความสำคัญของความรู้ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา เพราะ “ทรัพย์สินทางปัญญา” Intellectual Property (IP) เป็นกลไกสำคัญของนวัตกรรมเปลี่ยนโลก NIA จึงชวนมององค์ประกอบนี้ในเชิงลึก เกี่ยวกับความสำคัญในการปกป้องและต่อยอดไอเดียทางธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เนื่องจากในวันที่ 26 เมษายนของทุกปี ถือเป็น “วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Day)” นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้มาร่วมทำความเข้าใจถึงบทบาทของ ทรัพย์สินทางปัญญา ที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) นำมาใช้ในการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของประเทศต่างๆ
โดยล่าสุดในปี 2567 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับ ดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2567 (Global Innovation Index 2024 หรือ GII 2024) ภายใต้ธีม ‘ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม’ (Unlocking the Promise of Social Entrepreneurship) ซึ่งจัดโดย องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 133 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้มีข่าวดีว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 41 ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า
โดยเกณฑ์ในการชี้วัดดัชนีนวัตกรรมโลก จากทั้งหมด 7 ปัจจัย ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของ 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ปัจจัยผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology Outputs) และปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Outputs)
และเมื่อพูดถึงทรัพย์สินทางปัญญาในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ที่การเติบโตไม่ได้วัดจากทรัพยากรดิบหรือแรงงานราคาถูกอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม (RDI) การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพจึงกลายเป็น “แต้มต่อทางธุรกิจ” ที่มีความสำคัญยิ่ง สามารถเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ ขยายตลาด และสร้างความได้เปรียบอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้คำจำกัดความ “ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP)” ว่า หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือ สร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึง ถึงชนิดของการสร้างสรรค์หรือวิธีในการแสดงออก ทรัพย์สินทางปัญญาอาจแสดงออก ในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือในรูปของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ และกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม
และทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์ (Copyright) และทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) โดย “ลิขสิทธิ์” เป็นกฎหมายคุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น ภาพเขียน ภาพถ่าย งานเพลง งานวรรณกรรม หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแง่ศิลปะ ในขณะที่ “ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม” ตามนิยามของกรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้อาจเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิต ที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช แบบผังภูมิของวงจรรวม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น โดยทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมแบ่งเป็น
- สิทธิบัตร (Patent) คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์
- แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout-Design of Integrated Circuits) คุ้มครองแบบ แผนผัง หรือภาพที่ทำขึ้นเพื่อแสดงถึงการจัดวางและการเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้า
- เครื่องหมายการค้า (Trademark) ปกป้องชื่อ โลโก้ หรือสัญลักษณ์ที่ใช้ทางการค้า
- ความลับทางการค้า (Trade Secret) คุ้มครองสูตร เทคนิค หรือข้อมูลเชิงธุรกิจที่ไม่เปิดเผย
อย่างไรก็ดี จากทั้งหมดนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาที่ใกล้ตัวผู้คนมากที่สุดก็คือ “สิทธิบัตร” เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของ สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมักจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน
ทั้งนี้ WIPO ได้ให้คำนิยาม “สิทธิบัตร” ไว้ว่า เป็นสิทธิที่มอบให้กับเจ้าของสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะกว่าจะมาเป็นผลงานนวัตกรรมแต่ละชิ้นงานได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการคิดค้น ลงมือพัฒนา ใช้ทั้งเวลาและเงินลงทุนจำนวนไม่น้อย การมีสิทธิบัตรจึงเปรียบเสมือนเกราะที่ช่วยคุ้มครองเจ้าของผลงาน ให้ได้รับผลประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด
และหากลองดูความสำเร็จของหลายๆ ประเทศชั้นนำในระดับโลก จะเห็นว่าล้วนมีการส่งเสริมระบบสิทธิบัตรอย่างเข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น “ประเทศจีน” ผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘Generative AI’ เทคโนโลยีที่ประเทศจีนกำลังเร่งให้เกิดการพัฒนาเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากที่สุด
WIPO มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ระหว่างปี 2014 – 2023 ประเทศจีนมีการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับ Generative AI ออกมามากที่สุดในโลก ส่งผลให้ประเทศจีนมีสิ่งประดิษฐ์ด้าน Generative AI เกิดขึ้นกว่า 38,000 รายการ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าอันดับสองอย่างสหรัฐอเมริกาถึง 6 เท่า จึงทำให้นวัตกรรมในประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงสุดในกลุ่มประเทศผู้นำทั้งหมด
สำหรับประเทศไทย การพัฒนาเรื่องของการส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน ก็ถือว่ามีการพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน ดูได้จากผลการจัดอันดับ GII ในปี 2024 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนคำขออนุสิทธิบัตรในประเทศขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของโลก และจำนวนการยื่นคำขอสิทธิบัตรออกแบบเป็นอันดับที่ 33 ของโลก ซึ่งจากทั้งหมดแสดงให้เห็นความพร้อมที่ประเทศจะเดินหน้าในการพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
ขณะที่ ข้อมูลในเชิงตัวเลข จากเอกสารรายงานตัวชี้วัดทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Indicators: WIPI) จัดทำโดย WIPO ระบุข้อมูลการขอจดสิทธิบัตรประจำปี 2024 พบว่าประเทศไทยมีการยื่นขอสิทธิบัตรต่อสำนักงานในประเทศทั้งสิ้น 8,605 รายการ โดยจำแนกเป็นผู้ยื่นสัญชาติไทย 752 รายการ และต่างประเทศ 7,853 รายการ
และหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยมีสิทธิบัตรเป็นองค์ประกอบสำคัญคือ “เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติที่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าตู้เต่าบินนี้จะมีขนาดเพียงแค่ 1 ตารางเมตร แต่ภายในกลับซ่อนนวัตกรรมที่มีการจดสิทธิบัตรแล้วมากถึง 35 รายการ ครอบคลุมทั้งระบบความสะอาด ชุดอุปกรณ์จับและหมุนแก้วแก้ปัญหาการอุดตัน แขนกลชั่งตวงวัดแบบอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จนกลายเป็นแต้มต่อที่คู่แข่งยากที่จะเลียนแบบได้
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมา NIA จึงได้มีโครงการมากมายหลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมองค์ความรู้พื้นฐานภายใต้กลไก ‘Groom’ กับหลักสูตร IP for Business Innovation ทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับธุรกิจนวัตกรรม (IP 101) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความตระหนักเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งเป็นการปูพื้นฐานเพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้มาไว้ใช้ต่อยอดการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
และนอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนในเชิงลึกผ่าน โครงการ IP Management Clinic: IPMC 2025 (งานสัมมนาคลินิกให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา) ซึ่งมีเป้าหมายในการให้คำแนะนำรายบริษัท ในการจัดทำกลยุทธ์ทางด้านการค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการผ่านทรัพย์สินทางปัญญา ที่สำคัญยังมีการเข้าไปร่วมหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของ WIPO เพื่อนำมาสู่ความร่วมมือการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม สร้างโอกาสในการแข่งขันต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้
เพราะในโลกที่นวัตกรรมคือพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ การเป็นเจ้าของไอเดียเฉยๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องมี “เครื่องมือ” ที่จะทำให้นวัตกรรมนั้นได้รับการปกป้องและสามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ หนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ทรัพย์สินทางปัญญา”
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/05/05/intellectual-property-and-business-operations/