ไมโครซอฟท์ เปิดเผย จาก Made in China สู่ Created in Asia เอเชียครองสิทธิบัตร 70% ของโลก มีการใช้งานเอไอมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ
โรดริโก เคเด ลิมา (Rodrigo Kede Lima) ประธานไมโครซอฟท์ประจำภูมิภาคเอเชีย ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว Fortune ว่า เอเชียกำลังเปลี่ยนผ่านจากการเป็นเพียงฐานการผลิตหรือแหล่งประกอบสินค้า สู่การเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า “ผลิตในจีน” (Made in China) หรือ “ผลิตในเวียดนาม” (Made in Vietnam) แต่ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนเป็นยุคของ “สร้างสรรค์ในเอเชีย” (Created in Asia)
ตามรายงานของไมโครซอฟท์ ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเร่งค้นหาวิธีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยบริษัทต่างๆ ในเอเชียไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประธานลิมา อธิบายเพิ่มเติมว่า เอเชียกำลังมีบทบาทสำคัญในวงการเทคโนโลยีระดับโลก และมีการใช้งานเอไอมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยปัจจุบันเอเชียเป็นเจ้าของสิทธิบัตรถึงร้อยละ 70 ของสิทธิบัตรทั้งหมดทั่วโลก
นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นที่ตั้งของนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากถึงสองในสามของจำนวนนักพัฒนาทั่วโลก และมีการใช้งานหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเอไอมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย
การเปลี่ยนเกมของสตาร์ตอัปจีน
นับตั้งแต่ที่ลิมาเข้ารับตำแหน่งประธานไมโครซอฟท์ประจำภูมิภาคเอเชียในเดือนกันยายน 2567 เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเอไอของภูมิภาคเอเชีย โดยหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดคือ การปรากฏตัวของ DeepSeek สตาร์ตอัปเทคโนโลยีจากเมืองหางโจว ประเทศจีน
ก่อนหน้านี้ เอไอระดับสูงถูกผูกขาดโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ หรือ “ซิลิคอนวัลเลย์” ที่มีกำลังทรัพย์มหาศาลสำหรับการลงทุนในระบบประมวลผลราคาแพง แต่ DeepSeek สามารถพัฒนาเอไอที่ใช้ทรัพยากรการประมวลผลน้อยกว่าโมเดลดั้งเดิมของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของเทคโนโลยีเอไอถูกลงในอนาคต และทำให้บริษัทที่มีงบประมาณน้อยกว่าสามารถเข้าถึง และนำเอไอมาใช้งานได้มากขึ้น
ลิมา ยังคาดการณ์ถึงแนวโน้มในอนาคตว่า จะมีการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดเล็ก (Small Language Models) มากขึ้น ซึ่งเป็นเอไอที่มีขนาดเล็กกว่าแต่ถูกปรับแต่งให้เชี่ยวชาญในงานเฉพาะด้าน เช่น ด้านการแพทย์ แทนที่จะเป็นโมเดลขนาดใหญ่ที่ทำได้หลายอย่างแต่ต้องใช้ทรัพยากรมาก การมีโมเดลเฉพาะทางจะช่วยให้การใช้งานเอไอมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้นสำหรับงานเฉพาะด้าน
นอกจากนี้ ลิมาเชื่อว่าการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาดเอไอจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและธุรกิจ เนื่องจากจะมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น เขาอธิบายว่า แม้โมเดลเอไอบางตัวอาจมีประสิทธิภาพด้อยกว่าโมเดลชั้นนำ แต่หากมีราคาถูกกว่าและมีความสามารถเพียงพอสำหรับงานบางประเภท ก็จะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าสำหรับธุรกิจที่มีความต้องการเฉพาะด้านและมีงบประมาณจำกัด
“เปรียบเสมือนในตลาดสินค้าอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าระดับพรีเมียมเสมอไป หากสินค้าระดับกลางสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเพียงพอ”
ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยหุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 ลดลงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16 สำหรับปี 2568 อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ทำผลงานได้ดีกว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่นๆ ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านภาษี โดยลดลงเพียงร้อยละ 6 สำหรับปี 2568 ซึ่งไม่แย่กว่าดัชนี S&P 500 มากนัก
เอเชียกับการใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ดัชนีแนวโน้มการทำงานประจำปี 2568 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการตอบแบบสำรวจและข้อมูลการใช้งานจากผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สำนักงานของบริษัท เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและพฤติกรรมในที่ทำงานทั่วโลก
จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า ผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่าร้อยละ 60 มีความต้องการที่จะนำเอไอมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตในองค์กร ในขณะเดียวกัน ทั้งผู้นำและพนักงานมากถึงร้อยละ 85 รู้สึกว่าไม่มีเวลาและพลังงานเหลือสำหรับงานมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อย
ไมโครซอฟท์ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญเกิดจากการถูกรบกวนบ่อยๆ ในที่ทำงาน เช่น การประชุม อีเมล หรือการแจ้งเตือนในระบบต่างๆ ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกสองนาที ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ทางออกที่ไมโครซอฟท์เสนอคือ การใช้ “ตัวแทนเอไอ” (AI Agents) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถทำภารกิจต่างๆ ตามที่ผู้ใช้งานกำหนด ตัวอย่างเช่น การให้เอไอเข้าไปเข้าร่วมประชุมแทน และสรุปรายงานสาระสำคัญกลับมาเมื่อมีการเอ่ยถึงชื่อของผู้ใช้งานในระหว่างการประชุม
ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของตัวแทนเอไอ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตำแหน่งงานในสายออฟฟิศที่ใช้ความรู้ (White-collar Jobs) แต่ข้อมูลของไมโครซอฟท์พบว่า ผู้นำธุรกิจในเอเชียส่วนใหญ่ต้องการใช้เอไอ เพื่อทำงานที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ เช่น การให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตามความต้องการ
AI จะไม่แย่งงาน แต่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน
ลิมา มีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเอไอต่อการจ้างงาน โดยเชื่อว่า เอไอจะสร้างงานใหม่ผ่านการเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ ทำให้โดยรวมแล้วการจ้างงานเพิ่มขึ้น
“ผมไม่เชื่อในการแย่งงาน แต่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงลักษณะงาน”
เขายังกล่าวอีกว่า ทักษะสำคัญที่สุดในยุคใหม่ ไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี แต่คือความเข้าใจในวิธีทำงานของเอไอ และการประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ “เอไอคือคณิตศาสตร์ยุคใหม่” ลิมากล่าวพร้อมยกตัวอย่างว่า “ในอนาคต คุณจะต้องสร้างตัวแทนเอไอได้เหมือนกับการสร้างสเปรดชีต (Spreadsheet) และถ้าคุณทำไม่ได้ คุณก็จะไม่มีวันทำงานได้เร็วเท่าคนข้างๆ คุณ”
แหล่งข้อมูล