ในโลกที่ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่สำคัญของเศรษฐกิจและการแข่งขันระดับประเทศ หลายประเทศทั่วโลกได้พลิกโฉมการกำหนดนโยบายและการพัฒนาเศรษฐกิจ
ด้วยการสร้าง “Data Strategy” ที่ชัดเจนและลงมือทำอย่างจริงจัง ข้อมูลไม่ได้แค่เก็บไว้ แต่ถูกเปลี่ยนเป็นโอกาส กลายเป็นบริการสาธารณะที่แม่นยำ กลายเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ตลาดใหม่ ๆ และกลายเป็นทางรอดของธุรกิจขนาดเล็ก
มองย้อนกลับมาที่บ้านเรา เรายังคงติดกับดักเดิม มีข้อมูล แต่ไม่ถูกใช้, มีกฎหมายแต่ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อน, มีความร่วมมือแต่ยังไม่ลึกพอที่จะเปลี่ยนเกม ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราต้องหยุด “เก็บข้อมูลเพื่อโชว์” แล้วหันมา “ใช้ข้อมูลเพื่อสร้าง” อย่างแท้จริง
จากข้อมูล สู่โอกาสทางเศรษฐกิจ: ทำไมเรายังติดกับดักเดิม? โครงสร้างกฎหมายด้านข้อมูลในประเทศไทยยังเต็มไปด้วยความซับซ้อน กฎหมายเดิมที่ไม่รองรับระบบดิจิทัล ขัดแย้งกับกฎหมายใหม่ที่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจด้าน Data Privacy ทำให้ไม่เกิดการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ “Data Infrastructure” ของไทยไม่สามารถขับเคลื่อนภาคธุรกิจได้จริง
ยิ่งไปกว่านั้น งบประมาณที่เกี่ยวกับการลงทุนในระบบข้อมูลยังถูกมองเป็น “ค่าใช้จ่าย” ไม่ใช่ “สินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์” มีขั้นตอนอนุมัติที่ยุ่งยาก ส่งผลให้การปรับปรุงระบบข้อมูลใช้เวลายาวนาน
ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ควรได้รับประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกในระดับพื้นที่กลับแทบไม่มีช่องทางเข้าถึงข้อมูล ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโมเดลธุรกิจใหม่ยังคงจำกัดอยู่กับการใช้ข้อมูลภายในหรือแค่ใช้การคาดเดา
บทเรียนจากประเทศที่ใช้ Big Data อย่างได้ผล เขาทำอย่างไร?
สิงคโปร์ ตั้ง GovTech เพื่อสร้าง Data Architecture ระดับชาติ ข้อมูลจากระบบขนส่ง พลังงาน และสุขภาพถูกรวมอยู่ใน Data Sandbox เพื่อให้ทั้งรัฐและเอกชนสามารถนำไปทดลองนโยบายและพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ได้
เนเธอร์แลนด์ CBS ทำงานร่วมกับภาคเอกชน วิเคราะห์ Big Data จากโลจิสติกส์และพลังงาน เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบผังเมืองและวางระบบขนส่งแบบยั่งยืน
แคนาดาและเยอรมนี ใช้ข้อมูลสุขภาพเพื่อพัฒนาโมเดลคาดการณ์โรคเรื้อรัง ทำให้ Telemedicine กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบรักษาพยาบาลหลัก ลดภาระโรงพยาบาลและงบประมาณรัฐ
ญี่ปุ่น ให้ SMEs ใช้ Big Data จากพฤติกรรมผู้บริโภคและยอดขายแบบเรียลไทม์ เพื่อวางแผนผลิต ลดสินค้าคงคลัง และเปิดตลาดใหม่ได้ตรงเป้า
ประเทศไทยจำเป็นต้องมี “Data Strategy” ที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่บนกระดาษ การเปลี่ยนเกมต้องเริ่มจากการกล้าสร้าง “ระบบข้อมูลกลางที่ปลอดภัยและใช้งาน” ด้วยความร่วมมือแบบ Public-Private Partnership (PPP) ที่ชัดเจน
ภาครัฐต้องเป็น “ผู้เปิดทาง” ไม่ใช่แค่ “เจ้าของข้อมูล” เช่น ให้สิทธิ์ SMEs ในการเข้าถึงข้อมูลจราจร การใช้พลังงาน สภาพอากาศ หรือสุขภาพในลักษณะที่ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว
พร้อมมี Data Governance Framework ที่ช่วยให้ทุกคนมั่นใจในการใช้ข้อมูล เช่น ระบบ anonymization ที่ช่วยให้สามารถนำข้อมูลมาใช้โดยไม่ระบุตัวตนหรือระบบ log ที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
ถ้าเราจะชนะในเกมเศรษฐกิจใหม่ ต้องใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ Big Data จะเปลี่ยนเกมได้ ก็ต่อเมื่อเรากล้าทำมากกว่าการ “เก็บ” แต่ “ใช้” อย่างมียุทธศาสตร์
ประเทศที่ลงทุนในโครงสร้างข้อมูล ไม่ใช่เพราะเขามีงบมากกว่า แต่เพราะเขา “เห็นค่าของข้อมูลมากกว่า”
องค์กรที่ยังไม่กล้าใช้ข้อมูลวันนี้ อาจกลายเป็นองค์กรที่ไม่มีข้อมูลอะไรให้ใช้ในวันพรุ่งนี้ — และประเทศที่ยังไม่กล้าคิดใหม่ ทำใหม่เรื่อง Data Strategy อาจต้องถามตัวเองว่า เราจะยืนอยู่ตรงไหนในอนาคต ถ้ายังทำแบบเดิมแล้วหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง คงถึงเวลาที่ต้องตามหา ‘Game Changer’ ที่จะมาเปลี่ยนเกมให้ประเทศเดินหน้าได้จริง
แหล่งข้อมูล