‘ดูดคาร์บอนออกจากทะเล’ เทคโนโลยีแก้ ‘วิกฤติสภาพภูมิอากาศ’

Loading

  • โครงการ SeaCURE ทดสอบดึงคาร์บอนออกจากทะเล เนื่องจากคาร์บอนมีอยู่ในน้ำในปริมาณที่มากกว่าในอากาศ
  • หากใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพจะสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 14,000 ล้านตันต่อปี ต่อการใช้น้ำผิวมหาสมุทร 1%
  • ทั้งนี้ต้องศึกษาด้วยว่าการปล่อยน้ำคาร์บอนต่ำลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศรู้กันดีว่า วิธีที่ดีที่สุดในการหยุด “ภาวะโลกร้อน” คือ ต้องลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” แต่การกำจัดก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาแล้วก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่สำคัญเช่นกัน ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษมอบเงินทุนให้แก่ “SeaCURE” โครงการนำร่องสำหรับดูดคาร์บอนออกจากทะเล

ส่วนใหญ่แล้ว “การดักจับคาร์บอน” มุ่งเน้นไปที่การดักจับการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดหรือดึงคาร์บอนออกจากอากาศ แต่สำหรับโครงการ SeaCURE แตกต่างออกไป ด้วยการทดสอบดึงคาร์บอนออกจากทะเล เนื่องจากคาร์บอนมีอยู่ในน้ำในปริมาณที่มากกว่าในอากาศ จึงเป็นไปได้ว่าการกำจัดคาร์บอนออกจากน้ำอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและใช้ต้นทุนน้อยกว่าการดักจับคาร์บอนออกจากอากาศ

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนจากอากาศโดยตรง แต่ดร.พอล ฮัลโลแรน ผู้นำโครงการ SeaCURE กล่าวการใช้น้ำแทนนั้นมีข้อดีหลายประการ

“น้ำทะเลมีคาร์บอนอยู่มากเมื่อเทียบกับอากาศ มากกว่าประมาณ 150 เท่า แต่ก็มีความท้าทายที่แตกต่างกัน เพราะการผลิตน้ำทะเลต้องใช้พลังงานมาก” ดร. ฮัลโลแรนกล่าว

โครงการนี้เริ่มทดลองแล้วทางตอนใต้อังกฤษ โดยใช้ท่อที่ทอดยาวใต้ชายหาดหินและออกไปยังช่องแคบอังกฤษดูดน้ำทะเลขึ้นมาและนำขึ้นบก เพื่อเริ่มบำบัดน้ำทะเลด้วย “เครื่องแยกน้ำทะเล” ถังสเตนเลสขนาดใหญ่ที่ช่วยเพิ่มการสัมผัสระหว่างน้ำทะเลที่มีกรดกับอากาศให้มากที่สุด กระบวนการนี้จะทำให้คาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นก๊าซ และถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในรูปคาร์บอนไดออกไซด์

“เมื่อคุณเปิดกระป๋องน้ำอัดลม มันจะเกิดฟอง นั่นคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมา สิ่งที่เราทำคือการกระจายน้ำทะเลบนพื้นผิวขนาดใหญ่ ซึ่งก็เหมือนกับการเทเครื่องดื่มลงบนพื้น แล้วปล่อยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว” ศาสตราจารย์ทอม เบลล์ ตัวแทนโครงการ SeaCURE เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลอยขึ้นสู่บรรยากาศจะถูกดูดออกไปและทำให้เข้มข้นขึ้น โดยใช้กาบมะพร้าวที่ไหม้เกรียม เพื่อเพิ่มความเข้มข้น ทำให้เกิดกระแสคาร์บอนไดออกไซด์ที่พร้อมสำหรับการจัดเก็บอย่างปลอดภัย ส่วนน้ำทะเลที่มีคาร์บอนต่ำจะถูกเติมด่างลงไปเพื่อทำให้มีค่าเป็นกลาง จากนั้นจึงถูกสูบกลับออกไปในลำธารที่ไหลลงสู่ทะเล เมื่อกลับสู่ทะเลแล้ว น้ำทะเลจะเริ่มดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศมากขึ้น ซึ่งช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โครงการนี้กำจัดกันกลับอยู่ที่ไม่เกิน 100 เมตริกตันต่อปี น้อยกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเครื่องบินที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเสียอีก หากพิจารณาจากขนาดของมหาสมุทรทั่วโลกแล้ว นักวิจัยของ SeaCURE ยังเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพ

ในเอกสารที่ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษ SeaCURE ระบุว่าหากใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพจะสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 14,000 ล้านตันต่อปี ต่อการใช้น้ำผิวมหาสมุทร 1% กระบวนการทั้งหมดในการขจัดคาร์บอนจะต้องใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งอาจใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนเรือลอยน้ำในทะเล

“เราจำเป็นต้องกำจัดคาร์บอน หากต้องการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และต้องปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อนต่อไป” ดร.โอลิเวอร์ เกเดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผู้เชี่ยวชาญด้านการดักจับคาร์บอน กล่าว

ดร.เกเดนกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีวิธีดักจับคาร์บอนอยู่ประมาณ 15-20 แบบ ซึ่งการดักจับจากน้ำทะเลและอากาศก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกเช่นกัน แต่จะเลือกวิธีใดก็ขึ้นอยู่กับต้นทุน

สำหรับโครงการ Seacure ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลจำนวน 3 ล้านปอนด์ และเป็นหนึ่งใน 15 โครงการนำร่องในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับดักจับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

“การกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โครงการนวัตกรรมอย่าง SeaCURE ที่มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์มีบทบาทสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีสีเขียวที่จำเป็นในการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนงานที่มีทักษะและกระตุ้นการเติบโต” นายเคอร์รี แม็กคาร์ธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ในตอนนี้น้ำคาร์บอนต่ำจะไหลออกมาจากท่อในปริมาณน้อยมากจนไม่น่าจะส่งผลกระทบใด ๆ แต่หากในอนาคตจะขยายกำลังการบำบัดมากขึ้น ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทะเลและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำด้วยว่า จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่มีคาร์บอนต่ำหลังจากการบำบัดหรือไม่

กาย ฮูเปอร์ นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ กำลังศึกษาวิจัยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ โดยนำสิ่งมีชีวิตในทะเลสัมผัสกับน้ำคาร์บอนต่ำภายใต้สภาพห้องปฏิบัติการ พบว่าหากน้ำคาร์บอนต่ำมีปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในทะเลพึ่งพาคาร์บอนในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ไฟโตแพลงก์ตอนใช้คาร์บอนในการสังเคราะห์แสง หอยแมลงภู่ก็ใช้คาร์บอนในการสร้างเปลือก

ทั้งนี้ฮูเปอร์กล่าวว่า อาจมีวิธีที่จะบรรเทาผลกระทบได้ เช่น การเจือจางน้ำคาร์บอนต่ำล่วงหน้า แต่จำเป็นต้องมีการอภิปรายตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เมื่อขยายการบำบัดน้ำ

การจับคาร์บอนทำให้ภาคส่วนที่กำจัดคาร์บอนได้ยากมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนเป็นศูนย์โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสภาพอากาศเพิ่มเติม รายงานได้เน้นย้ำว่าการกำจัดคาร์บอนอาจช่วยปรับปรุงอัตราการคงที่และลดลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้เข้าใกล้ระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมได้อย่างมาก

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1177433


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210