เปิดลิสต์ข้อมูลที่คุณห้ามบอก AI เด็ดขาด! รู้ไว้ก่อนโดนแฮก-ข้อมูลหลุดไม่รู้ตัว

Loading

เตือนคนใช้แชตบอท AI! เปิดประเภทข้อมูลที่ไม่ควรบอกเด็ดขาด ไม่ว่าจะแอปฯ ไหน เสี่ยงโดนขโมยตัวตน หลุดข้อมูลลับ หรือติดคุกไม่รู้ตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแชตบอท AI อย่าง ChatGPT หรือ Gemini และ DeepSeek ได้กลายมาเป็นผู้ช่วยสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากมาย ทั้งช่วยหาข้อมูล แปลภาษา เขียนอีเมล หรือแม้แต่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและการเงิน แต่ในความสะดวกสบายนี้ กลับซ่อนความเสี่ยงบางอย่างที่หลายคนอาจมองข้าม นั่นคือ “ข้อมูลที่ไม่ควรบอกกับ AI เด็ดขาด” เพราะแม้ผู้พัฒนาหลายเจ้าจะระบุว่า ข้อมูลของผู้ใช้จะไม่ถูกนำไปฝึกโมเดล แต่ก็ยังมีช่องโหว่เรื่อง “การจดจำภายในบัญชี” หรือการถูกทบทวนโดยเจ้าหน้าที่ รวมถึงความไม่แน่นอนของระบบคลาวด์ที่ AI เหล่านี้ใช้งาน

สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้ควรรู้คือ ข้อมูลใดก็ตามที่ถูกพิมพ์ป้อนใส่ AI ควรถูกมองว่าเป็น “ข้อมูลสาธารณะ” เพราะหลังจากส่งข้อมูลไปแล้ว ไม่มีใครรับประกันได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น หากระบบมีช่องโหว่หรือถูกแฮก อาจสูญเสียมากกว่าที่คิด

7 ประเภทข้อมูลที่ “ห้าม” บอก AI โดยเด็ดขาด

1.ข้อมูลผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรม

อย่าคิดว่าการถาม AI เรื่องการโกง ภาษี หรือการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ จะไม่มีใครรู้ เพราะแชตบอทหลายระบบมีระบบตรวจสอบข้อความ และอาจรายงานต่อเจ้าหน้าที่หากพบข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น การสร้างภาพ Deepfake โดยไม่ระบุว่าเป็น AI-generated อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายในยุโรป ส่วนในอังกฤษ การเผยแพร่ภาพลามกที่สร้างจาก AI โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมาย Online Safety Act

2.รหัสผ่านหรือข้อมูลล็อกอิน

ไม่ว่าจะเป็นรหัสเข้าอีเมล โซเชียลมีเดีย หรือระบบบริษัท ห้ามใส่ข้อมูลเหล่านี้ในแชตบอทเด็ดขาด เพราะมีรายงานว่า ข้อมูลของผู้ใช้บางรายเคยหลุดไปอยู่ในคำตอบของผู้ใช้อื่นมาแล้ว และหาก AI ถูกแฮกหรือข้อมูลหลุด ผู้ไม่หวังดีอาจเข้าถึงบัญชีของผู้ใช้ได้ทันที

3.ข้อมูลทางการเงิน

บัตรเครดิต หมายเลขบัญชีธนาคาร หรือเอกสารด้านการเงินอื่น ๆ ล้วนเป็นข้อมูลที่ “อ่อนไหว” และไม่มีระบบ AI ตัวใดที่มีมาตรการความปลอดภัยเทียบเท่าธนาคารหรือเว็บอีคอมเมิร์ซที่ใช้ระบบเข้ารหัสโดยเฉพาะ การพิมพ์ข้อมูลเหล่านี้ลงไปในแชตบอท จึงอาจนำไปสู่การโจรกรรมตัวตนหรือการฉ้อโกงทางการเงินได้ง่ายกว่าที่คิด

4.ข้อมูลส่วนตัวที่ระบุตัวตนได้ (PII)

ชื่อ-นามสกุลเต็ม ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวประชาชน เลขหนังสือเดินทาง หรือใบขับขี่ เป็นข้อมูลที่ไม่ควรถูกบันทึกใน AI โดยเด็ดขาด เพราะหากข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไป อาจกลายเป็นอาวุธให้มิจฉาชีพขโมยตัวตน หรือใช้ในการหลอกลวงต่างๆ ได้

5.ข้อมูลลับของบริษัทหรือองค์กร

ในยุคที่เราทำงานแบบรีโมตและใช้ AI ช่วยสรุปประชุมหรือเรียบเรียงเอกสาร การนำข้อมูลลับขององค์กร เช่น บันทึกประชุม โปรเจกต์ลับ หรือแผนการเดินทางของผู้บริหารไปใส่ใน AI อาจนำไปสู่ความเสียหายมหาศาล เช่นกรณีของ Samsung ที่พนักงานเคยเผลอใส่โค้ดลับลงในแชตกับ AI แล้วข้อมูลหลุดออกไปแบบไม่ตั้งใจ

6.ความลับส่วนตัวหรือเรื่องที่อาจสร้างความอับอาย

แม้ AI จะดูเหมือนเป็นที่ปรึกษาที่ปลอดภัย เพราะไม่ตัดสินผู้ใช้ แต่ต้องไม่ลืมว่าบางระบบมีการเก็บข้อมูลเพื่อปรับปรุงการตอบคำถาม หรือมีฟีเจอร์จดจำผู้ใช้ หากเผลอแชร์ความลับที่ “อ่อนไหว” เช่น ปัญหาชีวิตคู่ ประวัติอาชญากรรม หรือเรื่องส่วนตัวที่ไม่อยากให้ใครรู้ อาจมีความเสี่ยงที่ข้อมูลนี้จะถูกเข้าถึงได้ภายหลัง

7.ข้อมูลทางการแพทย์หรือสุขภาพ

บางคนอาจใช้ AI เพื่อช่วยวิเคราะห์อาการเบื้องต้น ซึ่งอาจสะดวก แต่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะหากใส่ข้อมูลเวชระเบียน ชื่อยาหรือโรคที่เป็นจริงลงไป นอกจากจะไม่มีความแม่นยำเท่าหมอแล้ว ยังเสี่ยงทำให้ข้อมูลสุขภาพหลุดออกสู่สาธารณะ ซึ่งอาจละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลผู้ป่วยได้ในบางประเทศ

แม้บริษัทผู้พัฒนา AI รายใหญ่จะมีนโยบายรักษาความปลอดภัยของข้อมูล แต่ก็ไม่ควรมองข้ามความรับผิดชอบของตนเอง การใช้งานอย่างมีสติ ตรวจสอบก่อนพิมพ์ และไม่แชร์ข้อมูลที่เป็นความลับหรือระบุตัวตนได้ เป็นเกราะป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดในยุคดิจิทัล

AI ไม่ใช่ไดอารี่ ไม่ใช่หมอ และไม่ใช้นักกฎหมายส่วนตัว ผู้ใช้อาจใช้งานเพื่อขอความช่วยเหลือทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายผู้ใช้งานในภายหลัง เพราะเมื่อข้อมูลใดหลุดไปแล้ว อาจไม่มีวันหวนกลับมาเป็นความลับได้อีกเลย

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/625349


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210