การเปลี่ยนแปลงนโยบายการสนับสนุนพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการดำเนินนโยบายด้านพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงจีน ยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด และมีมาตรการกีดกันทางการค้า CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเอง อย่าง Microsoft, Google และ Amazon ยังคงยืนยันเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป เนื่องจากต้องแข่งขันในตลาดโลก นั่นจึงทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่านโยบายต่อต้านพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนพลังงานสะอาดของโลกมากนัก เนื่องจากเทรนด์โลกยังคงให้ความสำคัญกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น
ทิศทางลงทุนพลังงานสะอาดย้ายสู่เอเชีย
บทวิจัยของ Morgan Stanley มองว่า นโยบายด้านพลังงานสะอาดของทรัมป์ จะทำให้เม็ดเงินลงทุนกว่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เคลื่อนย้ายออกจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกองทุนรวมที่เน้นลงทุนด้านพลังงานสะอาดและความยั่งยืน ที่เริ่มเบนเข็มสู่ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะกลายเป็นดาวรุ่ง เพราะหลายประเทศในเอเชียต่างกำลังเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานสะอาดและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้กำลังเร่งพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง ข้อมูลจาก Global Wind Energy Council คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 กำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ดำเนินการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นหกเท่า รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเอเชียจะเป็นตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย จะเป็นตลาดใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรก เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีสีเขียว โดยมีจีนเป็นผู้นำในที่ครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กว่าร้อยละ 60 ของโลก และควบคุมการผลิตแร่หายากที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดถึงร้อยละ 80 ทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องเร่งหาพันธมิตรใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนี่คือโอกาสของประเทศไทย ที่กำลังก้าวสู่การเป็นฐานผลิตหลักของรถยนต์ EV ที่มีค่ายรถยนต์จากประเทศต่างๆ เข้ามาตั้งฐานผลิต จากข้อมูลของบีโอไอ พบว่า ปัจจุบันมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวมทุกค่าย และทุกประเภท รวม 28 โครงการ 22 บริษัท มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 78,000 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตรวมกว่า 880,000 คัน
ประเทศไทยดำเนินนโยบายสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 เพื่อสร้างอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย ปี 2567 – 2580 (Power Development Plan หรือ PDP2024) ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ปัจจุบันไทยมีการผลิตพลังงานสะอาดในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม และจากการจัดอันดับ SDG Index ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยได้คะแนนความก้าวหน้าในด้านพลังงานสะอาดสูงสุดในภูมิภาค
ความพร้อมด้านพลังงานสะอาด เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นที่สุด ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนและตั้งฐานผลิตในประเทศไทย ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐอย่างบีโอไอ ที่ให้การส่งเสริมการลงทุนก็มีประเภทกิจการส่งเสริมการลงทุนในด้านพลังงานสะอาด เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไปสู่การลงทุนสีเขียว โดยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน เพิ่มความแข็งแกร่งให้ไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อลดความเสี่ยงในวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต โดยสถิติการขอรับการส่งเสริมในกิจการพลังงานสะอาด นับตั้งแต่ปี 2558 – มีนาคม 2568 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมกว่า 2,900 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 560,000 ล้านบาท แบ่งตามประเภทกิจการ ดังนี้
–กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ มีจำนวนกว่า 80 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 110,000 ล้านบาท
–กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น มีจำนวนกว่า 2,800 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 320,000 ล้านบาท
–กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานอื่นๆ มีจำนวนกว่า 30 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยหันมาใช้พลังงานทดแทน ตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ Smart and Sustainable Industry โดยตั้งแต่ปี 2558 – มีนาคม 2568 มีจำนวนกว่า 2,400 โครงการ มูลค่ากว่า 220,000 ล้านบาท ถือเป็นการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสีเขียวตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/04/20/direction-of-investment-in-clean-energy-in-asia/