3 นวัตกรรมไทย รับมือ ฟื้นฟู จัดการปัญหาไม่คาดฝันจากการเกิดภัยพิบัติ

Loading

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญ กระตุ้นให้สังคมหันมาตระหนักถึงการเตรียมรับมืออย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่เฉพาะกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เท่านั้น แต่รวมถึงไปถึงภัยพิบัติ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การรับมือที่มีประสิทธิภาพจึงควรครอบคลุมทุกช่วงเวลาตั้งแต่เกิดเหตุ ไปจนถึงการฟื้นฟูต่อเนื่องหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านพ้นไป

แน่นนอนว่านวัตกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเครื่องมือ และกระบวนการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA จึงขอแนะนำ “3 นวัตกรรมไทย สู้ภัยพิบัติ รับมือ ฟื้นฟู จัดการปัญหาสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน” ซึ่งสามารถนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียครั้งต่อไปได้

Traffy Fondue เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มแจ้งปัญหา เพราะแจ้งเตือนคนเมืองได้ก่อนภัยจะมา

เชื่อว่าคนกรุงคุ้นชื่อกันดีกับ แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพราะเป็นช่องทางสำหรับแจ้งปัญหาของประชาชนในพื้นที่ กทม. โดยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา Traffy Fondue ได้เปิดรับแจ้งความเสียหายในอาคารต่างๆ เพื่อประสานงานส่งต่อปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการแก้ไข

โดยประชาชนที่พบเห็นรอยร้าว หรือ ความเสียหายตัวอาคารจากแรงแผ่นดินไหว สามารถแจ้งได้ง่ายๆ ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่น แค่แอดไลน์ผ่าน Line @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงก์ https://page.line.me/105rlyvn ก็สามารถส่งรูป พิกัด และรายละเอียดได้ครบจบในที่เดียว โดยขั้นตอนการแจ้งรอยร้าวอาคารผ่าน LINE OA

นอกจากนี้ Traffy Fondue ยังมีบริการที่เปิดรับแจ้งเตือนข่าวสารจากประชาชน เช่น เหตุการณ์ฉุกเฉิน ไฟไหม้ รวมไปถึงภัยธรรมชาติอื่นๆ โดยสามารถระบุพิกัดของสถานที่ แล้วจะมีการแจ้งเตือนออกไปแก่ผู้ใช้บริการให้รับทราบ ปัจจุบันบริการนี้อยู่ระหว่างทดสอบนำร่องใช้ในกรุงเทพมหานครและมีแผนการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

และในตอนนี้ มีการเรียกร้องให้ยกระดับการใช้งานระบบ Traffy Fondue ออกไปยังทุกๆ จังหวัด โดยสั่งให้จังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้ระบบ Traffy Fondue เพื่อบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนจากเหตุภัยพิบัติ ในขณะเดียวกันให้นายกรัฐมนตรีสื่อสารต่อประชาชนทุกคนว่าให้แจ้งเรื่องเข้ามาทางระบบ Traffy Fondue เป็นหลัก ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใด ควบคู่ไปกับช่องทางสำรองอื่นๆ เพื่อรองรับประชาชนที่ไม่สะดวกในการแจ้งเรื่องผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์

โดยข้อดีของระบบ Traffy Fondue คือ พร้อมใช้ได้ทันที ไม่ต้องมีการติดตั้งระบบใดๆ ทั้งสิ้น ในฝั่งหน่วยงานผู้รับแจ้งเรื่องสามารถเปิดบัญชีเพื่อรับเรื่องในระบบ Traffy Fondue ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ส่วนในฝั่งประชาชน สามารถแอดไลน์ Traffy Fondue และทำการแจ้งเรื่องเข้ามาได้ทันที โดยไม่ต้องมีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นใดๆ เพิ่มเติม

นี่คือความพร้อมใช้ของระบบที่ถูกพัฒนาโดย NECTEC ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความสับสน และเพิ่มความชัดเจนให้กับประชาชนในการแจ้งเรื่องและขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ

“DISASTRA” นวัตกรรมฝึกอบรมรับมือภัยพิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกำลังหลักในการช่วยชีวิตและรักษาผู้ประสบเหตุให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทักษะและความรู้เฉพาะทางในการประเมินสถานการณ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจภายใต้ความกดดันและสถานการณ์ที่คับขัน อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมทักษะเหล่านี้ในปัจจุบันยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายอย่าง เนื่องจากการอบรมต้องมีทั้งทรัพยากรบุคคล เครื่องมือ และงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการฝึกซ้อมควบคู่กัน

นวัตกรรม DISASTRA จึงถูกพัฒนาขึ้นมาโดยความร่วมมือของภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บริษัท เมดเอนไซ จำกัด และบริษัท ดิสแอสตร้า จำกัด สร้างซอฟต์แวร์ที่ช่วยฝึกการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติและอุบัติภัยหมู่ ซึ่งใช้การจำลองสถานการณ์ที่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนสามารถแบ่งทีม ตามหน้าที่และบทบาทต่างๆ สามารถสื่อสารผ่านช่องทาง Voice Channel, Voice Call และมีอุปกรณ์

เช่น การดูข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบดิจิทัล แบบจำลองรถขนส่งผู้ป่วย เป็นต้น เพื่อฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา ดูแลผู้บาดเจ็บภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA และมีการใช้งานจริงในการอบรมแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินประจำปี EMS Medical Director Course ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2566

“Fixzy” ตัวช่วยฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไป

แม้ว่าสถานการณ์จากภัยพิบัติจะจบลง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังคงหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน รวมไปถึงตึกสำนักงานต่างๆ การตรวจสอบซ่อมแซมสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นี่จึงเป็นอีกปัญหา เนื่องจากคนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่าต้องติดต่อสื่อสารกับช่างอย่างไร บริษัท ฟิกซิ จำกัด จึงนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการประสานงานระหว่างผู้ใช้บริการกับช่างอย่างครบวงจร เพื่อให้การดูแลบ้านเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรอนานอีกต่อไป

Fixzy เป็นแอปพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มที่ได้รวบรวมช่างระดับคุณภาพของประเทศมาไว้ในระบบ สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการปรึกษาช่าง หรือต้องการซ่อมแซมบำรุงรักษาเกี่ยวกับเรื่องบ้าน โดยจุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากเครื่องปั๊มน้ำที่บ้านของ co-founder ท่านหนึ่งเกิดเสียขึ้นมา แต่การเรียกใช้บริการจากช่างซ่อมกลับเป็นไปอย่างยากลำบาก และไม่สามารถระบุหรือยืนยันได้เลยว่าช่างที่เข้ามาให้บริการนั้นมีประสบการณ์หรือมีคุณภาพจริงหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ว่า จะดีกว่าไหม หากเรามีเครื่องมืออะไรสักอย่างที่สามารถระบุคุณสมบัติหรือความสามารถของช่างแต่ละคนได้เลยว่า มีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพจริงๆ จึงเริ่มพัฒนา Product และ Business Model ออกมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น Fixzy แบบที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

จุดประสงค์หลักของ Fixzy คือ การที่ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีจากช่างที่มีคุณภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ตรงตามหมวดหมู่ที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งลูกค้าเองก็สามารถเรียกใช้บริการให้ช่างเข้าไปซ่อมแซมได้ทุกรูปแบบภายในบ้านด้วยราคาที่ไม่แพงไปกว่าราคาตลาด

โดยผู้ใช้บริการสามารถขอคำปรึกษาและนัดหมายให้ช่างเข้าไปจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีจุดเด่นในแง่ของการพิจารณาช่างในระบบ เพราะทุกคนต้องผ่านการตรวจสอบทั้งทักษะและประวัติอาชญากรรมอย่างจริงจัง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีศักยภาพตามมาตรฐาน ความสำเร็จในการสร้างองค์กรอย่างยั่งยืนนี้ทำให้ บริษัท ฟิกซิ จำกัด สามารถคว้า ‘รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567’ ด้านองค์กรนวัตกรรม ประเภทองค์กรวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อยไปได้

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2025/04/14/3-thai-innovations-with-disaster-problems/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210