เด็กใช้ AI ตอบคำถาม ผู้ปกครองฝึกให้ ‘คิดนอกกรอบ-ตรวจสอบข้อมูล’ อย่างไร?

Loading

ยุคที่ AI ช่วยสอนการบ้าน ผู้ปกครองจะสอนลูกให้ ‘คิดนอกกรอบ’ และ ‘ตรวจสอบข้อมูล’ อย่างไร? การใช้ AI อย่างชาญฉลาดจึงเป็นโจทย์สำคัญทั้งที่บ้านและโรงเรียน

ตั้งแต่การเปิดตัว ChatGPT ของบริษัท OpenAI ในช่วงปลายปี 2022 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบสร้างเนื้อหา (Generative AI) เคยเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ในออฟฟิศ ค่อยๆ ไหลซึมเข้าสู่โลกของวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยม และตอนนี้ กำลังคืบคลานเข้าสู่โลกของเด็กเล็ก

ทุกวันนี้ เด็กเล็กๆ ก็เริ่มสัมผัสกับเทคโนโลยีนี้เช่นกัน ทำให้ผู้ปกครองและครูต้องหาวิธีแนะนำเอไอให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี อย่างเหมาะสม แม้ว่าข้อกำหนดการใช้งานของ ChatGPT, Gemini ของ Google และเอไออื่นๆ จะระบุว่า เครื่องมือเหล่านี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่หลายครอบครัวและโรงเรียนก็ตัดสินใจสอนเด็กเกี่ยวกับเอไอด้วยตนเอง

สำนักข่าว The Guardian ได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้อ่านว่าทำไมพวกเขาจึงเลือกหรือไม่เลือกแนะนำเอไอให้กับลูกหลานของตน ซึ่งครอบคลุมทั้งพ่อแม่และครู เพราะการเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับอนาคตเป็นหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย

บางครอบครัวและครูใช้ ChatGPT เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยอธิบายแนวคิดใหม่ๆ ตอบคำถามที่ไม่สิ้นสุดของเด็ก หรือสร้างเรื่องราวสนุกๆ ขณะที่บางกลุ่มยังคงระมัดระวัง โดยค่อยๆ แนะนำเอไอในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอย่างใกล้ชิด

ในทางตรงกันข้าม บางครอบครัวและครูเลือกที่จะไม่สอนเด็กให้ใช้เอไอเลย เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงและปัญหาจริยธรรม โดยเฉพาะเรื่องลิขสิทธิ์ที่ยังไม่มีความชัดเจน

พ่อแม่ที่สนับสนุนและใช้เอไอไปพร้อมๆ กับลูก

แมตต์ พ่อจากรัฐฟลอริดา เล่าว่าการได้เห็นลูกๆ ค้นพบเอไอเป็นความสุขที่ไม่คาดคิดในการเลี้ยงดูบุตร ลูกชายวัย 9 ขวบของเขาไม่พูดว่า “เสิร์ช Google กันเถอะ” อีกต่อไป แต่กลับพูดว่า “พ่อครับ เราถาม ChatGPT ได้ไหม” เมื่อติดขัดเรื่องการบ้าน

สิ่งที่แมตต์ประทับใจคือ ได้เห็นลูกกำลังเรียนรู้ที่จะขอคำใบ้แทนการขอคำตอบสำเร็จรูป ส่วนลูกชายคนเล็กวัย 6 ขวบที่มีคำถามไม่รู้จบ เอไอก็กลายเป็นผู้ช่วยตอบคำถามในยามที่พ่อแม่อย่างเขารู้สึกเหนื่อยล้าจนตอบไม่ไหว

ผู้ปกครองหลายคนใช้เอไอเป็นที่พึ่งทางปัญญาเมื่อไม่สามารถตอบคำถามของลูกได้ เช่น อาศัยแอปพลิเคชันจดจำเสียงนกและพืชระหว่างเดินเล่น หรือใช้ ChatGPT ตอบคำถามเกี่ยวกับโลก พ่อแม่เหล่านี้ต้องการให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะหันไปหาเอไอเพื่อเสริมความอยากรู้อยากเห็น แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามลดการเล่นแบบไม่มีส่วนร่วมและเวลาหน้าจอ

เบน ผู้ประกอบการวัย 47 ปีจากเยอรมนี กำลังแนะนำ ChatGPT ให้กับลูกสาวคนโต โดยอธิบายว่ามันเป็นผู้ช่วยสร้างสรรค์ที่สามารถเป็นได้ทั้งเพื่อนหรือศัตรู และสอนเธอเกี่ยวกับคำสั่งพื้นฐานเพื่อให้เอไอทำงานและเป็นประโยชน์

เขาแสดงให้ลูกสาวเห็นการใช้เอไอในชีวิตประจำวันในที่ทำงาน เช่น การสร้างอีเมล การวางแผนกิจกรรม การจัดระเบียบข้อมูล พร้อมสอนให้เธอรู้ว่าต้องมีความสงสัยเสมอเมื่อใช้เอไอและไม่ควรเริ่มพึ่งพาคำตอบของมันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจผิดพลาดได้

โจแอนนา แม่บ้านและผู้ดูแลจากเมืองบาธ เล่าว่าลูกชายวัย 11 ปีของเธอใช้เอไอช่วยทำการบ้านและการเรียน เขาต้องหาไอเดียจากเอไอก่อน แล้วจึงเรียบเรียงคำตอบด้วยคำพูดของตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นการคัดลอกและวาง

ริชาร์ด อาจารย์มหาวิทยาลัยจากอูกันดา เริ่มแนะนำเอไอให้กับลูกชายคนโตที่เรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมระหว่างทำการบ้าน เขาสอนให้ลูกเห็นว่าเอไอ โดยเฉพาะ ChatGPT สามารถช่วยให้เข้าใจแนวคิดต่างๆ ได้ดีขึ้น และส่งเสริมการใช้อย่างมีความรับผิดชอบ เหตุผลคือเขาเชื่อว่ายิ่งลูกได้รู้จักเร็วเท่าไร จะยิ่งดีเพราะการปฏิวัติด้านเอไอจะอยู่ต่อไป

พ่อแม่ที่ไม่ให้ลูกใช้เอไอ เหตุเพราะขัดขวางทักษะการคิดของเด็ก

พ่อแม่บางคนไม่แนะนำเอไอให้กับลูก เช่น ผู้ปกครองท่านหนึ่งในอ็อกซฟอร์ดที่มีลูกชายวัย 5 ขวบเห็นว่าเด็กต้องเรียนรู้วิธีเขียนคำพูดของตัวเองและวาดภาพของตัวเอง ไม่ใช่ใช้เครื่องจักรเพื่อขโมยผลงานและขัดขวางจินตนาการ ผู้ปกครองรายนี้สนับสนุนให้ลูกชายระมัดระวังเครื่องจักรใดๆ ที่ต้องการเขียนคำพูดแทนเขา ซึ่งเทียบเท่ากับการคิดแทนเขา เด็กเล็กๆ สมควรได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และจินตนาการของพวกเขา

ผู้ปกครองอีกท่านในลอนดอนไม่ได้แนะนำเอไอให้กับลูกอายุ 10 ปีและ 8 ปี แม้ว่าพวกเขาจะเป็นนักอ่านที่มีทักษะสูงแต่ไม่ใช่นักเขียนที่เก่ง หนึ่งในนั้นมีอาการ ADHD และมักถูกดึงดูดให้วอกแวกและหาทางลัด กล่าวคือ หลีกเลี่ยงงานที่ยากโดยสัญชาตญาณ

ผู้ปกครองจึงกังวลว่า การให้เด็กใช้เอไอ อาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความท้าทายหรือปัญหาที่ยาก แทนที่จะพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการการเรียนรู้ในระยะยาว โดยเฉพาะกับเด็กที่มีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงงานยากอยู่แล้ว

ครูผนวกเอไอเข้ากับการเรียนการสอน

ครูบางคนใช้เอไอในห้องเรียนเพื่อกระตุ้นจินตนาการของเด็ก มากกว่าจะมาแทนที่การเรียนรู้ เช่น ใช้ Adobe Firefly เพื่อส่งเสริมการเขียนเชิงพรรณนาในวิชาภาษาอังกฤษ โดยให้เด็กๆ พิมพ์วลีคำนามหรือรายการคำคุณศัพท์ แล้วเอไอจะสร้างภาพตามคำอธิบายนั้น หรือใช้ character.AI เพื่อทำให้ตัวละครทางประวัติศาสตร์มีชีวิตชีวาสำหรับบทเรียนประวัติศาสตร์

อาดัม ครูสอนภาษาอังกฤษมัธยมในแวนคูเวอร์ แคนาดา มีแนวทางชัดเจนสำหรับนักเรียน โดยบอกให้พวกเขาถามเอไอเฉพาะคำถามที่พวกเขาจะถามครู เช่น พวกเขาจะไม่ขอให้ครูเขียนเรียงความให้ แต่อาจขอคำแนะนำในการปรับปรุงเรียงความได้ อาดัมยังเตือนนักเรียนว่า เอไอมีความไม่แม่นยำ อาจโกหกและให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นพวกเขาจำเป็นต้องฝึกการคิดเชิงวิพากษ์และทักษะการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ใช้เอไอสอนเท่าทันสื่อ ตรวจสอบข่าวปลอม – ข้อมูล

เดวิด นักพัฒนาซอฟต์แวร์จากไอร์แลนด์ ได้แนะนำให้ลูกๆ รู้จักกับเอไอโดยพาพวกเขาใช้ ChatGPT และสร้างภาพตามที่พวกเขาต้องการ แม้ลูกๆ จะยังเข้าใจเรื่องเอไอไม่มากนัก แต่พวกเขาเริ่มเข้าใจว่าคนเราสามารถสร้างภาพและวิดีโอปลอมบนอินเทอร์เน็ตได้

จากนั้น เดวิดและลูกๆ ได้ร่วมกันคิดเรื่องราวสนุกๆ แล้วให้ ChatGPT เขียนเป็นบทรายงานข่าว ก่อนนำไปใช้กับ NotebookLM เพื่อแปลงเป็นพอดแคสต์ที่เขาเปิดให้ลูกๆ ฟังผ่านระบบเสียงในรถ พอดแคสต์นี้ฟังดูเหมือนรายงานข่าวจริงๆ แม้จะเป็นเรื่องแปลกประหลาดเกี่ยวกับม้าเชตแลนด์ที่กลายเป็นยูนิคอร์นและจับมือกับตุ๊กตาลิงกิบบอนเพื่อต่อสู้กับแกะร้ายในเคอร์รี

หลังจากฟังจบ เดวิดได้ถามลูกๆ ว่าควรเชื่อข่าวนี้หรือไม่ พวกเขาจึงช่วยกันค้นหาข้อมูลทางออนไลน์และไม่พบหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย กิจกรรมนี้ช่วยให้ลูกๆ ของเดวิดเข้าใจถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อมูล แม้ข้อมูลนั้นจะฟังดูเป็นทางการและน่าเชื่อถือก็ตาม

บทบาทของภาครัฐและเอกชน

หนึ่งในประเด็นหลักที่ควรได้รับการพิจารณาคือ การคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยอาจไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ทั้งหมด แต่ควรมีการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้ครอบคลุมผลกระทบของเอไอต่อเด็กมากขึ้น ทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคล การเข้าถึงเนื้อหา และการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ควรมีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับผู้ปกครอง ครู และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดูแลและแนะนำการใช้เอไอแก่เด็กได้อย่างเหมาะสม

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (cybersecurity) และทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐ บอกเล่าแก่สำนักข่าว The 101 World ว่า บริษัทเทคโนโลยีต้องมีส่วนรับผิดชอบ เอไอไม่ควรเป็นเครื่องมือที่ใครใช้แบบไม่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะเมื่อมันอยู่ในมือของเด็ก

ภาครัฐจึงควรมีกฎเกณฑ์ให้บริษัทที่พัฒนาเอไอ ต้องมีมาตรการเพื่อความปลอดภัย เช่น ระบบ Parental Control ที่ช่วยให้พ่อแม่ตั้งค่าควบคุมการใช้งานได้ง่ายขึ้น รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงและการใช้งานเอไออย่างถูกต้อง

บทสรุป: เรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างพ่อแม่และลูก

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่แค่กฎหมายหรือนโยบาย แต่เป็น “วิธีที่พ่อแม่ใช้เอไอไปพร้อมๆ กับลูก” การปล่อยให้เด็กใช้เอไอโดยไม่มีการกำกับดูแล อาจทำให้พวกเขาติดเทคโนโลยีหรือได้รับข้อมูลผิดๆ ได้ง่าย แต่ในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่ลองเล่นไปกับลูก ใช้เอไอเป็นโอกาสในการพูดคุย ตั้งคำถาม และเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะช่วยให้เด็กเข้าใจและใช้งานมันอย่างมีสติ

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/1174127


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210