สหรัฐอเมริกาประสบปัญหา ‘แพทย์เฉพาะทาง’ มากเกินไป

Loading

น่าจะไม่มีสังคมไหนในโลกที่ได้รับการขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมเท่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งการทำให้ทุกองคาพยพของสังคมเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมก็ถูกวิจารณ์มากโดยประเทศอื่นๆ ว่ามันจะทำให้บริการพื้นฐานทางสังคมหลายๆ อย่างมีปัญหา และในกรณีของสหรัฐอเมริกา ปัญหาที่หนักสุดคือการไม่มี ‘ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ที่ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับเดียวกันไม่มีประเทศไหนไม่มี

แต่หายนะก็ยังไม่ใช่แค่นั้น เพราะการให้ ‘ตลาด’ เป็นตัวกำหนดบริการทางการแพทย์ มันทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ ‘ไม่ทำเงิน’ ให้แก่แพทย์

ในทางเทคนิค ปัจจุบันนี้ในสหรัฐอเมริกาคนจะเรียนแต่ ‘แพทย์เฉพาะทาง’ เพราะมันทำเงินได้มากกว่า จนสุดท้ายทำให้ไม่มีใครอยากเป็นแพทย์ระดับบริการปฐมภูมิ (Primary care) หรือพูดง่ายๆ คือคนอยากเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านระบบผิวหนัง หัวใจ กล้ามเนื้อและกระดูก ระบบทางเดินอาหาร ศัลยกรรม เพราะงานเหล่านี้ได้เงินเดือนสูงกว่าแพทย์ทั่วไปที่จบด้านอายุรศาสตร์ (Internal medicine) ไปจนถึงเวชศาสตร์ครอบครัว (Family medicine)

ก่อนจะงงไปกับศัพท์แสงเฉพาะทางทางการแพทย์ เราอยากเล่าเบสิกและความต่างกันในงานของแพทย์แบบบริการปฐมภูมิกับแพทย์เฉพาะทางก่อน

คือในระบบบริการสาธารณสุขทั่วไปในโลก เราไม่สามารถเดินไปโรงพยาบาลแล้วขอเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเลยได้ เราต้องไปพบ ‘แพทย์ทั่วไป’ เพื่อประเมินอาการก่อน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ถ้าเห็นว่าเราจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เขาจะส่งเราต่อ แต่เราอาจจะไม่ได้พบแพทย์ในวันนั้น ต้องทำนัดมาพบอีกในวันที่มีคิว

ระบบแบบนี้ ใครเคยใช้บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทยก็คงเคยสัมผัส ไม่ว่าจะใช้สิทธิ์บัตรทองหรือประกันสังคม ซึ่งจริงๆ การไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐก็ล้วนใช้ระบบแบบนี้ เป็นระบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วทั้งโลก เพราะไม่มีระบบสาธารณสุขใดในโลกที่จะให้บริการประชาชนที่อยากเข้าพบแพทย์เฉพาะทางฟรีๆ ได้ตลอดเวลา เนื่องจากแพทย์กลุ่มนี้ด้วยโครงสร้างรายได้ มีค่าจ้างที่แพงกว่าแพทย์ทั่วไป และทำให้โรงพยาบาลต้องบริหารทรัพยากรให้คุ้ม และมักจะบังคับให้มีการ ‘ทำนัด’ ก่อนพบแพทย์เสมอ และปกติแพทย์พวกนี้ก็จะไม่ว่าง คิวยาวเฟื้อย แต่ข้อดีคือวันหนึ่งแพทย์กลุ่มนี้จะมีกรอบการทำงานที่จำกัด มีนัดแค่ไหน ทำงานเท่านั้น ไม่เกินนั้น

กลับกัน ‘แพทย์ทั่วไป’ หรือแพทย์ที่เป็นด่านแรกของระบบสาธารณสุข โดยทั่วไปคาดเดาไม่ได้ว่าวันหนึ่งต้องรับคนไข้กี่คน และโดยทั่วไปถ้าเป็นสถานพยาบาลของรัฐ แพทย์กลุ่มนี้มีงานมหาศาล วันหนึ่งต้องรับเกิน 30 เคส ไม่ใช่เรื่องแปลก ทำให้ธรรมชาติของแพทย์ทั่วไป หรือแพทย์ของ ‘บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ’ นั้นหนักกว่าแพทย์เฉพาะทางมาก

งานหนักและเครียดไม่พอ ค่าตอบแทนก็น้อยกว่าแพทย์เฉพาะทางที่ทำงานเบากว่า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แพทย์ส่วนใหญ่ก็จะอยากไปเป็นแพทย์เฉพาะทางมากกว่า

และถ้าถามว่ารายได้ต่างกันแค่ไหน ในอเมริกา แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่เป็นแกนหลักของระบบสาธารณสุขปฐมภูมินั้นมีรายได้เพียงแค่ราวครึ่งเดียวของแพทย์ที่เรียนมาด้านศัลยกรรมพลาสติกโดยตรง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่สาขาหลังคนจะแย่งกันเรียน แต่สาขาแรกจะแทบไม่มีคนเรียน

แต่นั่นก็ยังไม่จบ มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การไม่เคารพสาขาผู้อื่น’ (Specialty disrespect) ซึ่งอธิบายง่ายๆ มันคือการ ‘เหยียด’ ในจักรวาลของแพทย์ หรือการพูดถึงสาขาเฉพาะทางบางสาขาในทางลบ โดยแพทย์ในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวคือสาขาที่โดนเหยียดมากที่สุด นักศึกษาแพทย์ที่เลือกเรียนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ รายงานว่าเคยโดนเหยียดที่เลือกเรียนสาขานี้ โดยทาง Business Insider ได้สัมภาษณ์แพทย์ในสาขานี้คนหนึ่งที่เล่าทำนองว่าเคยมีคนมาพูดว่า “คะแนนคุณดีมากนะ ทำไมเลือกมาเรียนสาขานี้” ด้วยซ้ำ

ที่ว่ามานี้ จริงๆ คนในแวดวงแพทย์ก็อาจพอคุ้นหรือนึกภาพออก และก็รู้สึกว่าจริงๆ ประเทศอื่นมันก็เป็นแบบนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะสหรัฐอเมริกา

แต่อีกด้าน ในขณะที่ปัญหา ‘คนไม่อยากเป็นแพทย์พื้นฐาน’ มีทั่วโลก ปัญหานี้รัฐส่วนใหญ่แก้ไขด้วยการอัดเงินอุดหนุนเข้าไป คืออุดหนุนไปทุกด้าน ให้ทุนคนเรียนและบังคับมาใช้ทุน ให้เงินอุดหนุนสาขานี้ของโรงพยาบาลต่างๆ ให้จ่ายเงินให้แพทย์กลุ่มนี้ดีขึ้นอะไรก็ว่าไป ทางออกมันมีอยู่แล้วถ้ารัฐยอมให้เงินอุดหนุน

แต่แน่นอน ศูนย์กลางของอาณาจักรทุนนิยมโลกอย่างสหรัฐอเมริกานั้นมีการ ‘แทรกแซงตลาด’ น้อยกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว และผลของการปล่อยตลาดทำงานตามยถากรรมก็คือ แพทย์ทั่วไปที่สังคมขาดมากกว่าสาขาอื่นๆ ก็จะขาดต่อไป และจะขาดมากขึ้นๆ ในระดับที่เขาประเมินว่าในปลายทศวรรษหน้า อเมริกาจะขาดแพทย์กลุ่มนี้ราว 100,000 คน

แน่นอนปัญหานี้จะยิ่งหนักภายใต้นโยบายต่อต้านผู้อพยพของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่น่าจะทำให้แพทย์ที่อเมริกาขาดแคลน ถ้าไม่มีทางเลือกก็คงจะไม่อยากไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับกันถ้าวันดีคืนดีในอนาคตอเมริกาหันมาเป็นมิตรกับผู้อพยพอีก แนวโน้มก็คืออเมริกาก็จะดูด ‘แพทย์พื้นฐาน’ จากประเทศอื่นไปทำงาน และส่งผลให้แพทย์พื้นฐานในประเทศอื่นขาดแคลนอีก โดยเฉพาะประเทศรายได้น้อย

ดังนั้นปัญหาที่ว่าระบบการศึกษาของอเมริกาผลิตแพทย์ใช้ไม่พอตามความต้องการ มันเลยไม่ใช่ปัญหาของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นปัญหากระจายไปทั้งโลก เพราะนี่จะทำให้เกิดภาวะ ‘สมองไหล’ แน่นอน และถ้าคิดว่าบางประเทศกำลังต้องเผชิญภาวะสังคมผู้สูงอายุ นี่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะแพทย์ที่มีอาจไม่พอดูแลคนแก่ในประเทศอยู่แล้ว ถ้าแพทย์บางส่วนเผ่นไปอยู่อเมริกาอีก ระบบสาธารณสุขของประเทศก็น่าจะหายนะแน่ๆ

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1228241925530808&set=a.811136580574680


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210