- 88.9% ของรถยนต์ใหม่ที่ขายใน “นอร์เวย์” ในปี 2024 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในบางเดือน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 98% ทำให้กลายเป็นประเทศที่ใช้รถอีวีมากที่สุด
- กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของนอร์เวย์ คือ การออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว และลดภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามมา
- รัฐบาลไม่ได้ห้ามขายรถยนต์สันดาป แต่เพิ่มภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอัตราที่สูงขึ้น
“นอร์เวย์” กลายเป็นผู้นำด้านการใช้ “รถยนต์ไฟฟ้า” โดยรถยนต์ใหม่ที่ขายได้ในปี 2024 มีถึงเกือบ 90% ที่เป็นรถอีวี อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของประเทศนี้ แล้วประเทศอื่น ๆ สามารถเรียนรู้จากสิ่งนี้ได้หรือไม่
รถยนต์เกือบทุกคันสัญจรที่บนท้องถนนในกรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ ต่างมีตัวอักษร “E” ซึ่งย่อมาจาก electric ที่แปลว่าไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เลือกใช้รถ EV กันหมด และกลายเป็นบรรทัดฐานของประเทศ และกำลังจะเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกการขายรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล
ตามข้อมูลจากสหพันธ์ท้องถนนแห่งนอร์เวย์ หรือ OFV แสดงให้เห็น 88.9% ของรถยนต์ใหม่ที่ขายในประเทศในปี 2024 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 82.4% ในปี 2023 ทำให้ในปีที่ผ่านมานอร์เวย์มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน แซงหน้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นครั้งแรก และเมื่อรวมรถยนต์ดีเซลเข้าไปด้วย จะมีรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของรถยนต์ทั้งหมดในนอร์เวย์
ในบางเดือน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า สูงถึง 98% แทบจะมีคนซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซลใหม่แล้ว ต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่น ในสหราชอาณาจักรมีรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 20% เท่านั้นที่จดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในปี 2024 แม้ว่านี่จะเป็นสถิติสูงสุดและเพิ่มขึ้นจาก 16.5% ในปี 2023 ก็ตาม ส่วนในสหรัฐตัวเลขอยู่ที่เพียง 8% เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นขึ้นเล็กน้อยจากปี 2023 ที่ 7.6%
นอร์เวย์จึงกลายเป็นผู้นำในการใช้ รถ EV อย่างไม่ต้องสงสัย แต่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ ต้องใช้เวลากว่าสามทศวรรษ
ทุกอย่างเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่นอร์เวย์เริ่มมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ เช่น Buddy (เดิมชื่อ Kewet) และ TH!NK City แม้ว่าในปัจจุบันทั้งสองบริษัทจะเลิกกิจการไปแล้ว แต่ยังคงส่งต่อแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงอยู่
แม้ว่านอร์เวย์จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ แต่นอร์เวย์ก็ตั้งเป้าที่จะจำหน่ายรถใหม่ทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ไว้ตั้งแต่ปี 2017 ซึ่ง จากยอดขายในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นว่านอร์เวย์ใกล้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว และคาดว่าในปี 2025 น่าจะถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก
เซซิลี คนีบ์ คร็อกลันด์ รองรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของนอร์เวย์กล่าวว่า “เป้าหมายของเรา คือ แสดงให้เห็นว่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์นั้น เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้และเป็นทางออกที่ดีเสมอ และตอนนี้เรากำลังเข้าใกล้เป้าหมายนั้น ซึ่งฉันคิดว่าเราจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ฉันคิดว่าเราได้เปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว”
กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของนอร์เวย์ คือ การออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว
แทนที่จะห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป รัฐบาลกลับชี้นำให้รถอีวีให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภค นอกจากจะเพิ่มภาษีและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอัตราที่สูงขึ้นแล้ว ยังลดภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ตามมา เช่น ที่จอดรถฟรี ส่วนลดค่าผ่านทาง และการเข้าวิ่งในเลนของรถประจำทาง
ทั้งนี้ นอร์เวย์ยังคงอนุญาตให้ขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลได้ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่เลือกซื้อรถยนต์เหล่านี้
“จากนั้นรัฐค่อย ๆ ขึ้นภาษีรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล จนรถเหล่านี้มีราคาแพงมาก ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าได้รับการยกเว้นภาษี” คริสตินา บู เลขาธิการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าของนอร์เวย์กล่าวกับ BBC
เมื่อเทียบกันแล้ว สหภาพยุโรปมีแผนที่จะห้ามการขายรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ภายในปี 2035 ขณะรัฐบาลปัจจุบันของสหราชอาณาจักรมีแผนห้ามขายรถยนต์ใช้น้ำมันในปี 2030
ปั๊มน้ำมันในนอร์เวย์หลายแห่งถูกเปลี่ยนเป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้า และปัจจุบันมีสถานีชาร์จสาธารณะมากกว่า 27,000 แห่งทั่วนอร์เวย์ นั่นหมายความว่านอร์เวย์มีสถานีชาร์จ 447 แห่งต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับ 73,699 แห่งในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 12 เท่า แสดงให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรมีเพียง 89 แห่งต่อประชากร 100,000 คน
สำหรับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดของนอร์เวย์เมื่อปี 2023 ได้แก่ Tesla, VW และ Toyota ส่วนแบรนด์รถยนต์ของจีน เช่น MG, BYD, Polestar และ XPeng ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 10% ตามข้อมูลของ OFV ทั้งนี้นอร์เวย์ไม่ได้เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งต่างจากสหรัฐและสหภาพยุโรปที่ตั้งกำแพงภาษี
นางบูกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ประเทศอื่นจะเลียนแบบนอร์เวย์ไม่ได้ เพราะความจริงแล้วคนนอร์เวย์ไม่ได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนในที่อื่น ๆ แต่เป็นเพราะนโยบายที่เข้มแข็ง และผู้คนค่อย ๆ เข้าใจว่าการขับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปได้ในชีวิตจริง
อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ก็เป็นประเทศที่ร่ำรวยมากเช่นกัน โดยกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซจำนวนมหาศาล ซึ่งหมายความว่านอร์เวย์มีเงินเพียงพอสำหรับสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น และแบกรับภาระการสูญเสียรายได้จากการขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังมีพลังงานไฟฟ้าจากน้ำหมุนเวียน ซึ่งคิดเป็น 88% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
เคล แวร์เนอร์ โยฮันเซน จากศูนย์วิจัยการขนส่งแห่งนอร์เวย์กล่าวว่า “ปัจจุบันรถยนต์ 1 ใน 3 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ฉันคิดว่ารัฐบาลจะยังคงให้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือไฮบริดรุ่นใหม่ ๆ วางขายอยู่บ้าง แต่ฉันไม่รู้จักใครเลยที่อยากซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลในทุกวันนี้”
แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยม แต่บริษัทให้เช่ารถยนต์บางแห่งก็ยังคงซื้อรถที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว นอร์เวย์ภูมิใจที่จะเป็นประเทศแรกของโลกที่เลิกใช้รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็ยังมีพื้นที่สำหรับความทรงจำในอดีตและความสนุกสนานในบางครั้ง ซึ่งช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้ง่ายขึ้นและควบคุมการต่อต้านได้
แหล่งข้อมูล