- “เกเลพู” เมืองแห่งสติ เมกะโปรเจกต์ของภูฏาน หวังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- โครงการนี้อิงตามมรดกและวัฒนธรรมของภูฏาน ซึ่งเน้นที่ความสุข ความเป็นอยู่ที่ดี และความมีสติ ผสมผสานสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าว่าจะเป็นเมืองปล่อยคาร์บอนเป็นลบแห่งแรกของโลก
- ปิดตัวโครงการเงินฝากประจำเพื่อระดมทุนจากชาวภูฏานที่อยู่ในต่างประเทศ และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุน พัฒนาทักษะ และสร้างงานในประเทศ
“ภูฏาน” สร้าง “เกเลพู” เมืองแห่งสติ หรือ GMC (Gelephu Mindfulness City) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและประตูให้นักท่องเที่ยวสู่เมืองอื่น ๆ ในประเทศ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมืองนี้จะมีขนาดประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตรใกล้กับเมืองเกเลพู ตามแนวชายแดนทางใต้ของภูฏานที่ติดกับอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.5% ของประเทศ และมีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ สะพานเชื่อมระหว่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ตรัสเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่า “เราจะไม่ได้ติดอยู่ในกับดักของมรดกที่ตกทอดสืบต่อกันมา และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำแผนงานไปปฏิบัติ ซึ่งประเทศอื่น ๆ อาจลังเลที่จะปฏิบัติตาม”
“เกเลพู” เมืองแห่งสติ
GMC เป็นวิสัยทัศน์ที่เกิดจากความปรารถนาของกษัตริย์จิกมีที่จะสร้างเมืองที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่ประเทศอื่น ๆ ใฝ่ฝัน และพัฒนา GMC ให้เป็นเขตบริหารพิเศษ ทำให้ GMC เป็นอิสระและแตกต่างจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดย GMC จะบริหารงานโดยหน่วยงานซึ่งเป็นอิสระจากรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ และจะบริหารงานโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากทั่วโลก
เมืองนี้จะรวมเอาธุรกิจที่ใส่ใจและยั่งยืน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากมรดกทางจิตวิญญาณของชาวพุทธ และยึดตามค่านิยมหลักปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNH (Gross National Happiness) โดยตั้งเป้าให้ GMC เป็นสถานที่ของคนที่มีความตั้งใจดี มีสติ และจิตวิญญาณควรสามารถดำเนินธุรกิจของตนได้ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่ดีที่สุด
เกเลพูแตกต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ตรงที่เมืองนี้จะเป็นเจ้าภาพจัดงานให้กับธุรกิจต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกและเชิญตามความเคารพต่อวิถีชีวิตของชาวภูฏาน การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน และอำนาจอธิปไตย และมีปัจจัยที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจ เช่น อาชญากรรมและการทุจริตเป็นศูนย์ ความโปร่งใสอย่างเต็มที่ สภาพแวดล้อมที่สะอาดที่สุด และไม่มีธุรกิจสีเทาที่น่าสงสัย
เว็บไซต์ของ GMC ระบุว่าโครงการนี้อิงตามมรดกและวัฒนธรรมของชาวพุทธของภูฏาน ซึ่งเน้นที่ความสุข ความเป็นอยู่ที่ดี และความมีสติ ผสมผสานสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าว่าจะเป็นเมืองปล่อยคาร์บอนเป็นลบแห่งแรกของโลก ซึ่งหมายความว่าจะดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าที่ปล่อยออก
ดร.โลเทย์ เชอริง อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นส่วนหนึ่งของทีมปฏิบัติการของ GMC ให้สัมภาษณ์กับ The Week ว่า GMC ยึดหลักสำคัญ 5 ประการ ประการแรกคือ สุขภาพ ซึ่งจะเป็นการผสมผสานระหว่างยาแผนตะวันออกและตะวันตก และผสมผสานระหว่างระบบการแพทย์สมัยใหม่และแบบดั้งเดิม
ปัจจัยที่สองคือ การศึกษาและการเรียนรู้ที่จะต้องสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ปัจจัยที่สามคือ พลังงานที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและหมุนเวียนได้ ต่อมาคือ จิตวิญญาณ และปัจจัยสุดท้ายคือ การบริหารความมั่งคั่ง
เขตเศรษฐกิจใหม่
เมืองแห่งสติอยู่ติดกับรัฐอัสสัมและรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย มีที่ราบเชิงเขาและเนินเขาซึ่งมีภูมิประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ด้วยภูมิประเทศลักษณะเฉพาะและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสนามบินนานาชาติเต็มรูปแบบ และสามารถเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ ๆ ของอินเดีย รวมถึงทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ทำให้เกเลพูเหมาะสมที่สุด ในการสร้างเส้นทางเศรษฐกิจนำการพัฒนามาสู่ภูมิภาคนี้
โครงการเกเลพูจะได้รับการพัฒนาอย่างสอดประสานกันใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ พลังงาน การเชื่อมต่อ และทักษะ พลังงานน้ำจะดึงดูดการลงทุนผ่านราคาที่มีการแข่งขันในระดับภูมิภาค แหล่งพลังงานอื่น ๆ เช่น ลม ความร้อน และแสงอาทิตย์จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและสนามบินนานาชาติในเกเลพูจะช่วยปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โครงการนี้จะยกระดับทักษะของชาวภูฏานและดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศเข้ามา
สำหรับแผนแม่บทของเมืองแห่งสติจะเป็น มหานครที่ไม่สูงมากนัก และจะมีสะพานที่สามารถอยู่อาศัยได้หลายแห่ง (inhabitable bridges) ซึ่งแต่ละแห่งจะเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญของเมือง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ มหาวิทยาลัย สถานพยาบาลสำหรับการแพทย์ตะวันออกและตะวันตก เรือนกระจกไฮโดรโปนิกส์ ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์จิตวิญญาณ ตลาดนัดสินค้าท้องถิ่น และเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
อีกหนึ่งจุดที่ถือว่าเป็นแลนด์มาร์กของเมืองแห่งนี้คือ Sankosh Temple-Dam เขื่อนที่มีบันไดสามารถเกิดไปสู่วัดที่อยู่ตรงกลางเขื่อน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากวัดทักซัง (The Tiger’s Nest) ที่ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกประจำปี 2023 โดยบียาร์เก้ อิงเกลส์ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัท Bjarke Ingels Group
ตามแบบแผนของเมืองจะมีย่านที่การพัฒนาแบบริบบิ้น (Ribbonlike Neighborhoods) 11 แห่ง ที่รวมเอาแม่น้ำและลำธาร 35 สายในพื้นที่ไว้ด้วยกัน โดยย่านต่าง ๆ การออกแบบให้มีลักษณะเป็นมันดาลา (Mandala) หรือวงกลมในภาษาสันสกฤต อันเป็นตัวแทนของจักรวาล ซึ่งจะมีรูปแบบซ้ำ ๆ กันที่จัดวางอยู่รอบพื้นที่สาธารณะอยู่ตรงกลาง
เพื่อป้องกันน้ำท่วม เมืองนี้จะสร้างทุ่งนาตามแนวแม่น้ำ เป็นแนวลานดินในเมืองที่ไหลลงมาจากเนินเขาสู่หุบเขา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเส้นทางอพยพของช้างและสัตว์ป่าอื่น ๆ โดยไม่ถูกรบกวน
“เมืองแห่งสติสัมปชัญญะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยทุกคนด้วย” แถลงการณ์กล่าว
บิ๊กโปรเจกต์กินเวลาหลายทศวรรษ
ในตอนนี้ การก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่และท่าเรือได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวันว่าโครงการจะเสร็จเมื่อไหร่ เนื่องด้วยโครงการนี้เป็นเมกะโปรเจกต์ที่ใช้เงินจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานพัฒนาเอกชนของภูฏานประกาศเปิดตัวโครงการเงินฝากประจำเพื่อระดมทุนจากชาวภูฏานที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อช่วยสร้างสนามบินนานาชาติและโครงสร้างพื้นฐานพื้นฐานอื่น ๆ ใน GMC
“นี่ไม่ใช่แค่โอกาสทางการเงิน แต่เป็นคำเรียกร้องให้เรามีส่วนร่วมและกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อภูฏานที่เจริญรุ่งเรือง มีสติ และยืดหยุ่น” อุจจาวาล ดาฮาล ซีอีโอของบริษัทการลงทุนและการพัฒนา เกเลฟู หน่วยงานพัฒนาเอกชน กล่าวในแถลงการณ์
เว็บไซต์ของ GMC ระบุว่าจะเปิดตัว “พันธบัตรสร้างชาติ” อายุ 10 ปี เพื่อระดมทุน 100 ล้านดอลลาร์ แต่เจ้าหน้าที่ของ GMC บอกกับ Reuters ว่าจะไม่มีการออกพันธบัตรให้กับบุคคลธรรมดา และไม่มีเป้าหมายในการระดมทุนที่แน่นอนสำหรับการดำเนินการทั้งหมด
ปัจจุบัน กฎหมายของภูฏานไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศ แต่ยังมีนโยบายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งนักลงทุนทุกคนต้องเข้าใจและเคารพวิสัยทัศน์ของ GMC ก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจที่นี่ โดยจะออกแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายและจิตวิญญาณของ GMC
อินเดีย พันธมิตรด้านเศรษฐกิจและคู่ค้าใหญ่ที่สุดของภูฏาน จะร่วมสนับสนุนโครงการนี้ พร้อมขยายเครือข่ายถนนและทางรถไฟไปจนถึงชายแดนเพื่อเชื่อมต่อ GMC
เป้าหมายหลักของ GMC คือ การดึงดูดการลงทุน พัฒนาทักษะ และสร้างงานในประเทศ โดยในปี 2022 ภูฏานอัตราการว่างงานของเยาวชนแตะระดับเกือบ 30% ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากอพยพออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ แค่ออสเตรเลียเพียงประเทศเดียวก็มีชาวภูฏานย้ายไปนับพันคนแล้ว
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า GMC จะถูกสร้างเป็นระยะ ๆ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 21 ปี โดยมีพันธมิตรเอกชนลงทุนในถนน สะพาน สนามบิน บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล และธุรกิจต่าง ๆ ทางการคาดว่าจะมีประชากรประมาณ 150,000 คนอาศัยอยู่ที่นั่นในช่วง 7-10 ปีแรก และจะมากกว่า 1 ล้านคนเมื่อสร้างเสร็จ
แหล่งข้อมูล