ทำไมกฎหมายคุม ‘เด็ก’ เล่นโซเชียลมีเดียของออสเตรเลีย เข้มงวดที่สุดในโลก?

Loading

ทำไม? ร่างกฎหมายควบคุมการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีซึ่งถูกเสนอเข้าสู่สภาของออสเตรเลีย ถูกจัดว่ามีมาตรการที่จัดได้ว่าเข้มงวดที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับมาตรการที่ประเทศอื่นเคยออกแบบมา

แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เปิดเผยว่า รัฐบาลออสเตรเลีย เตรียมออกกฎหมายห้ามเด็กต่ำกว่า 16 ปี ใช้โซเชียลมีเดีย  และเตรียมเป็นกฎหมายในช่วงปลายปีหน้า โดยกล่าวในงานแถลงข่าวว่า  “โซเชียลมีเดียเป็นอันตรายต่อลูกหลานเราและถึงเวลาแล้วที่ผมต้องยุติมัน”

โดยคาดว่ากฎหมายนี้จะมีการลงมติในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ ที่มองว่ามีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดที่สุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

มาตรการควบคุมของร่างกฎหมายฉบับนี้ มี 3 สาระสำคัญที่แตกต่างจากกฎหมายควบคุมที่เคยมีมา ได้แก่

  1. ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้งานโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Snapchat, Reddit, TikTok และ X ยกเว้นการเข้าถึงบริการส่งข้อความ เกมออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มที่สนับสนุนประเด็นด้านสุขภาพและการศึกษา เช่น YouTube Kids และมาตรการนี้จะไม่มีการยกเว้นให้กับเด็กที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง หรือเด็กที่มีบัญชีแล้ว
  2. ความรับผิดชอบในการบังคับใช้ข้อจำกัดด้านอายุจะตกอยู่กับบริษัทเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม โดยหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ แพลตฟอร์มจะมีเวลา 1 ปีในการดำเนินการตามข้อกฎหมาย หากบริษัทโซเชียลมีเดียไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะถูกปรับสูงสุดถึง 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1,147 ล้านบาท ) สำหรับการละเมิดซ้ำๆ รวมถึงการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
  3. รัฐบาลมอบหมายให้ Age Check Certification Scheme (ACCS) ทดลองใช้เทคโนโลยี เช่น การวิเคราะห์ใบหน้าด้วยไบโอเมตริกส์ และระบบยืนยันอายุ คาดว่าผลการทดลองจะแล้วเสร็จกลางปี 2025 โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ รวมไปถึงใช้ AI ในการตรวจจับอายุ ซึ่งเทคโนโลยีไบโอเมตริกส์มีความแม่นยำสูง ลดโอกาสในการปลอมแปลงอายุได้

ทั้งนี้ มีข้อกังวลจากหลายฝ่ายถึงความเข้มงวดของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นมาตรการที่ ‘รุนแรง’ เกินไป โดยมองว่ากฎหมายนี้อาจจะกระทบความเป็นส่วนตัว เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีไบโอเมตริกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เด็กถูกตัดขาดจากพื้นที่ออนไลน์  รวมไปถึงการแนะนำให้ใช้ระบบ Child Flag System ซึ่งเป็นระบบที่จะแจ้งแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มว่าผู้ใช้งานเป็นเด็ก โดยผู้ปกครองสามารถเปิด-ปิดการตั้งค่าได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการของประเทศอื่นๆ ที่มีการควบคุมมักจะเป็นการควบคุมโดยสามารให้ผู้ปกครองยินยอมได้ เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร  แม้ว่าก่อนหน้านี้ประเทศฝรั่งเศสจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกนโยบายอย่างชัดเจนมากขึ้นกว่าประเทศอื่น โดยออกกฎหมายควบคุมการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยจะอนุญาตต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองเท่านั้น หากแพลตฟอร์มยินยอนให้เด็กเข้าถึง จะถูกปรับเป็นเงิน 1% ของยอดขายทั่วโลก

นอกจากนี้ยังออกกฎให้แพลตฟอร์มต้องมีการแจ้งเตือนระยะเวลาที่เด็กใช้งานว่าใช้มานานเท่าไหร่แล้ว  รวมไปถึงผู้ปกครองจะต้องมีการพูดคุยกับเด็กก่อนที่จะมีการแชร์ภาพของเด็กบนโซเชียลมีเดีย  แต่ออสเตรเลียจะเป็นประเทศเดียวหากกฎหมายนี้ผ่านรัฐสภา ที่เข้ามาควบคุมโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง โดยใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับอายุ แม้ว่าจะเสี่ยงต่อหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็ตาม

สำหรับท่าทีของ แอนโทนี อัลบาเนซี นายกฯ ออสเตรเลีย ชัดเจนต่อนโยบายดังกล่าว โดยนายกฯออสเตรเลีย อ้างถึงความปลอดภัยของพื้นที่ออนไลน์ และการใช้โซเชียลมากเกินไปมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทางกาย และสุขภาพจิตของเด็ก โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อเด็กผู้หญิงจากการเผยแพร่ภาพที่เป็นอันตราย และเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชังผู้หญิงที่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กผู้ชาย

“ถ้าคุณเป็นเด็กวัย 14 ปีที่ได้รับสารพวกนี้ ในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และกำลังเติบโต มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก และสิ่งที่เราทำอยู่คือ การฟัง และจากนั้นก็ลงมือทำ” นายกฯ ออสเตรเลียกล่าว

เมื่อเข้าไปดูสถิติอาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ตามข้อมูลจากตำรวจแห่งออสเตรเลีย (AFP) จะพบว่ามีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จำนวนรายงานที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงปี 2021-2022 มีรายงานกว่า 36,000 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่าหนึ่งเท่า รวมไปถึงสถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งออสเตรเลีย (AIHW) ยังเน้นถึงผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์ที่รุนแรงที่เด็กอาจประสบจากการเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ โดยเหยื่อมักจะเผชิญกับปัญหาระยะยาวเช่น ซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเสี่ยงที่อาจถูกล่วงละเมิดซ้ำ

ประเทศไทยเป็นอย่างไร

สำหรับสถิติอาชญากรรมออนไลน์ทั่วโลกกับเด็กจากการศึกษาล่าสุด พบว่าเด็กมากกว่า 300 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศออนไลน์ทุกปี ซึ่งรวมถึงการเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอทางเพศโดยไม่ได้รับความยินยอม การถูกล่อลวงออนไลน์ และการกระทำอื่นๆ เช่น การแบล็กเมล์ทางเพศและการใช้เทคโนโลยีดีฟเฟคในการสร้างภาพทางเพศที่ไม่เป็นจริง​

สำหรับประเทศไทย การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์ (OCSEA) เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานล่าสุดระบุว่า ประมาณ 9% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี เคยตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศและแสวงหาผลประโยชน์ทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีการออกกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของเด็กโดยตรง แต่มีการออกกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องเด็กจากอันตรายออนไลน์ เช่น การส่งเสริมความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตและการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีบังคับใช้ข้อจำกัดอายุบนแพลตฟอร์มต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ เนื่องจากมีผู้ใช้เยาวชนที่สามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอายุได้ง่ายๆ เช่น การใช้ VPN หรือการให้ข้อมูลที่ผิด รวมไปถึงบางครั้งผู้ปกครองไม่ได้ตรวจสอบหรือมีเวลาเพียงพอที่จะดูแลบุตรหลาน เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/716146


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210