“Hiya Deepfake Voice Detector” ส่วนขยายใหม่บน Google Chrome ที่ใช้ AI ในการตรวจสอบว่าเสียงจากสื่อต่างๆเป็นเสียงจริงหรือเสียงที่ถูกปลอมขึ้นจากเทคโนโลยี Deepfake
“Hiya Deepfake Voice Detector” ส่วนขยายใหม่บน Google Chrome จากบริษัท Hiya ที่ใช้ขุมพลังจากปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ในการตรวจสอบว่าเสียงที่ได้ยินจากสื่อต่างๆนั้นเป็นเสียงจริงหรือเสียงที่ถูกปลอมขึ้นจากเทคโนโลยี Deepfake โดย Hiya ระบุว่าเครื่องมือนี้มีความแม่นยำถึง 99% และสามารถตรวจสอบเสียงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ Hiya ต้องพัฒนาเครื่องมือตรวจจับเสียงปลอมขึ้นมา เนื่องจากบริษัทเห็นว่า ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 เทคโนโลยี Deepfake ได้ถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด มีความแยบยลมากขึ้น จนยากที่จะแยกแยะว่าภาพ คลิป เสียง ที่ถูกเผยแพร่ออกมาตามสื่อต่างๆ เป็นของจริงหรือของปลอมที่สร้างขึ้นจาก Ai ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือ AI ให้สู้กับ AI จึงมีความสำคัญมากในโลกยุคดิจิทัลเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น
เทคโนโลยีตรวจจับเสียงปลอมของ Hiya อาศัยอัลกอริทึม AI ที่ได้มาจากการควบรวมกิจการกับ Loccus.ai เมื่อเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบให้เครื่องมือดังกล่าวตรวจจับเสียงปลอม ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ “Hiya Deepfake Voice Detector” ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เช่น คลิปวิดีโอมีเสียงดนตรีประกอบที่ดังเกินไป รวมถึงสามารถวิเคราะห์ได้เฉพาะเสียง ไม่สามารถตรวจจับคลิปปลอมที่ AI สร้างขึ้นได้
นอกจากนี้ จากการทดสอบยังพบว่าเครื่องมือดังกล่าวแม้จะสามารถตรวจจับเสียงปลอมของกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ แต่กลับไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของเสียงจริงของเธอได้ รวมถึงระบบยังตรวจไม่พบว่าเสียงปลอมของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนเป็นของปลอม โดยกลับให้คะแนนความน่าเชื่อถือสูงถึง 88 และ 90 คะแนนตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม Hiya Deepfake Voice Detector สามารถตรวจจับเสียงปลอมของคิม จู-ฮา ผู้ประกาศข่าวช่อง MBN ของเกาหลีได้ทันที
เครื่องมือดังกล่าว ถือว่าสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายใหม่ในการรักษาความน่าเชื่อถือของข้อมูลในยุคดิจิทัล และความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือตรวจจับ Deepfake ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการสร้างกรอบกฎหมายที่ครอบคลุมเพื่อป้องกันการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด
แหล่งข้อมูล