- นิตยสาร TIME เลือก “เฮมัน เบเคล” เด็กชายวัย 15 ปี ผู้คิดค้นสบู่รักษาโรคมะเร็งผิวหนัง เป็น “เด็กแห่งปี” (Kid of the Year) ประจำปี 2024
- สบู่ของเบเคล เรียกว่า “SCTS” หรือ สบู่รักษามะเร็งผิวหนัง ในสบู่มีอนุภาคนาโนที่บรรจุอิมิคิโมดอยู่ ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่ายาจะอยู่บนผิวหนังใน “ระดับโมเลกุล” แม้ว่าจะล้างสบู่ไปแล้วก็ตาม
- ผลงานของเบเคลกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง เขาหวังว่าภายในปี 2028 สบู่ของเขาจะใช้ได้จริง และจัดต้ององค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อให้การรักษามะเร็งผิวหนังที่เท่าเทียมและเข้าถึงผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“เฮมัน เบเคล” เด็กหนุ่มวัย 15 ปี เจ้าของงานวิจัย “สบู่ก้อนรักษามะเร็งผิวหนัง” ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “เด็กแห่งปี” (Kid of the Year) ประจำปี 2024 โดยนิตยสาร TIME
เบเคลเกิดในเอธิโอเปียและอาศัยอยู่ที่นั่นจนถึงอายุ 4 ขวบ จากนั้นจึงย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกากับครอบครัว ช่วงที่อยู่เอธิโอเปีย เขาได้เห็นผู้คนทำงานหลายชั่วโมงภายใต้แสงแดดอันร้อนแรง โดยไร้ซึ่งการป้องกันตัวเองจากแสงแดด เช่น ทาครีมกันแดด การสวมเสื้อแขนยาว
ตั้งแต่จำความได้ เบเคลหลงใหลในวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด เขารักการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกใบนี้มาก อยากรู้อยากเห็น และตั้งคำถามอย่างจริงจัง ในตอนที่เขาอายุ 7 ขวบ เขาได้รับชุดทดลองเคมีเป็นของขวัญคริสต์มาส ซึ่งมาพร้อมกับโซเดียมไฮดรอกไซด์ ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มเรียนรู้ถึงพลังของปฏิกิริยาเคมี
ความอยากรู้อยากเห็นดังกล่าวทำให้เกิดการทดลองมากมาย เขาผสมสารเคมีในครัวเรือนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งน้ำยาล้างจานและผงซักฟอก เพื่อสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า “น้ำยาวิเศษ” เขาทำการทดลองเหล่านี้ที่บ้าน โดยซ่อนส่วนผสมเหล่านี้ไว้ใต้เตียงเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
“พวกมันเป็นเพียงน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า และสารเคมีในครัวเรือนทั่วไป ผมจะซ่อนมันไว้ใต้เตียงและดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน ผมลองผสมพวกมันหลากหลายสูตรมาก”
ในขณะเดียวกันเขาเริ่มสนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์จากการถูกแสงแดดเป็นเวลานาน
“เมื่อผมมาถึงอเมริกา ผมตระหนักว่าแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลตสร้างปัญหาใหญ่กับเรามากเพียงใด เมื่อต้องโดนแสงแดดเป็นเวลานาน” เบเคลให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME
ความสนใจนี้ ทำให้เบเคลเริ่มศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนังและการรักษาโรค ซึ่งเขาได้รู้จักกับ “อิมิควิโมด” (Imiquimod) ครีมที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษามะเร็งผิวหนังบางประเภท แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงการรักษาชนิดนี้ได้ โดยเฉพาะในเอธิโอเปียบ้านเกิดของเขา ที่ส่วนใหญ่ยากจน ไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีจนอาจไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือบางทีในเอธิโอเปียอาจไม่มีการรักษาด้วยวิธีนี้อยู่เลย ซึ่งทำให้แอฟริกามีอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งผิวหนังในแอฟริกาในระดับต่ำ
“เป้าหมายหลักของผมไม่ใช่แค่การต่อสู้กับมะเร็งผิวหนังเท่านั้น แต่ยังต้องค้นหาวิธีการรักษาที่ราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้วย ดังนั้น ต้องหาวิธีการรักษามะเร็งผิวหนังแบบอื่นที่แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง”
ด้วยสายตาที่เฉียบแหลมในการสังเกตของเขา จึงทำให้ผลงานอันล้ำสมัยที่ช่วยชีวิตคนได้จำนวนมาก เบเคลจึงตัดสินใจพัฒนาสบู่ที่ช่วยรักษามะเร็งผิวหนัง เพราะเกือบทุกคนใช้สบู่และน้ำในการทำความสะอาดร่างกาย อีกทั้งยังสามารถใช้ได้เฉพาะจุด ดังนั้นสบู่จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงได้ และมีราคาถูกกว่าการรักษาวิธีอื่น
สบู่ของเบเคล เรียกว่า “SCTS” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Skin Cancer Treating Soap (สบู่รักษามะเร็งผิวหนัง) โดยในสบู่มีอนุภาคนาโนที่บรรจุอิมิคิโมดอยู่ ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่ายาจะอยู่บนผิวหนังใน “ระดับโมเลกุล” แม้ว่าจะล้างสบู่ไปแล้วก็ตาม สบู่จะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์เดนไดรต์ของผิวหนังให้ช่วยปกป้องผิวหนัง ซึ่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่สำคัญในการตอบสนองต่อการติดเชื้อ
เนื้อสบู่มีสีขาวเข้มและเนื้อสัมผัสเป็นปุ่มเล็กน้อย ซึ่งสามารถใช้เป็นสารขัดผิวได้ดี มีกลิ่นยาที่ค่อนข้างแรง แต่แน่นอนว่ากลิ่นนี้ไม่ได้แย่ที่สุด เนื่องจากสบู่มีอนุภาคนาโนที่มีฐานเป็นลิปิด สารชีวโมเลกุลที่ไม่ละลายในน้ำ ทำให้สบู่เหนียวเล็กน้อย นอกจากนี้ สบู่ยังมาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากอาจไม่สามารถรีไซเคิลได้
แนวคิดของเบเคลได้รับการรับรองโดยนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยและรักษามะเร็งผิวหนัง อีกทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน “Young Scientist Challenge” ประจำปี 2023 ที่จัดโดย Discovery Education แพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ ร่วมกับบริษัท 3M พร้อมรับเงินรางวัล 25,000 ดอลลาร์ โดยเบเคลกล่าวว่าจะนำเงินนี้ใช้สำหรับพัฒนาการวิจัยสบู่และการศึกษาต่อของเขา
*“มะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่พบในคนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา แต่ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์ ผมรู้สึกแย่มากกับที่ผู้คนต้องเลือกว่าจะเอาเงินมารักษาตัวหรือซื้ออาหารมาเลี้ยงครอบครัว มันน่าเศร้าที่ยังมีคนเสียชีวิตอยู่ทั้ง ๆ ที่พวกเขาหายได้ หากได้รับการรักษาทันเวลา”
เบเคลกล่าวหลังจากชนะการแข่งขัน 3M Young Scientist Challenge ในปี 2023
เดโบราห์ อิซาเบล ประธานโครงการส่งเสริมการฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ของบริษัท 3M พูดถึงเบเคลว่า “เขาใจดี ฉลาด มีสมาธิ เป็นแรงบันดาลใจ และมีพลัง เขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนอื่น ๆ ตระหนักว่าวิทยาศาสตร์สามารถสร้างความแตกต่างในเชิงบวกได้”
ยังมีอีกหลายขั้นตอนก่อนที่สบู่จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษา โดยเบเคลจะทำการวิจัยต่อที่โรงเรียนสาธารณสุขบลูมเบิร์ก ในมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปคิน โดยวิโต รีเบกกา นักชีววิทยาโมเลกุลเชิญเบเคลให้ใช้ห้องแล็บแห่งนี้เมื่อใดก็ได้ตามต้องการ พร้อม ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเบเคล ในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนทดสอบพื้นฐานกับสัตว์ทดลองอยู่
ตามรายงานของนิตยสาร TIME เบเคลอาจต้องใช้เวลานานประมาณสิบปีกว่าที่สบู่จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษามะเร็งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ แต่เขายังคงหวังว่าภายในปี 2028 สบู่ของเขาจะใช้ได้จริง และจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อให้การรักษามะเร็งผิวหนังที่เท่าเทียมและเข้าถึงผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แหล่งข้อมูล