ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ทั่วโลกพยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม แม้จะเป็นพลังงานสะอาดได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความไม่เสถียรในการผลิตไฟฟ้า และต้องพึ่งพาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ที่ยังมีต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้หลายประเทศชะลอการลงทุน เพื่อรอให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) ถูกจับตามองว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยในการประชุม COP28 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ผู้นำโลก 22 ชาติ ได้ลงนามในแถลงการณ์เพื่อเพิ่มความพยายามในการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในปี พ.ศ. 2593
ขณะที่ประเทศไทย ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้า SMR อยู่ปลายแผน ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์อยู่ไว้ 2 แห่ง ซึ่งปัจจุบันทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการเตรียมการโครงการเบื้องต้นทั้งการคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า และรวบรวมข้อมูลจากเดิมที่เคยทำเมื่อปี 2554 มาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ว่าการเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ การสรรหาเทคโนโลยีที่เป็นไปได้
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า SMR เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ โดยออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันให้มีขนาดเล็กลงบรรจุไว้ในโมดูลสำเร็จรูป ที่ประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต และสามารถขนย้ายโมดูลโดยรถบรรทุกหรือรถไฟเพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้าได้อย่างสะดวก จึงช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหลือเพียงประมาณ 3 – 4 ปี และใช้พื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบทั่วไปถึง 10 เท่า
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า SMR แม้จะมีขนาดเล็กลง แต่กลับใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 50,000-100,000 เท่า เพื่อผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการผลิตไฟฟ้า 235,000 หน่วย โรงไฟฟ้า SMR จะใช้แร่ยูเรเนียมประมาณ 1 กิโลกรัมเท่านั้น ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติต้องใช้มากถึง 50,000 กิโลกรัม และถ่านหินใช้มากถึง 100,000 กิโลกรัม
อีกทั้งเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า SMR ได้รับการออกแบบให้สามารถหยุดการทำงานได้เอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โรงไฟฟ้าจะไม่เกิดความเสียหาย
นอกจากนี้บางเทคโนโลยียังออกแบบให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ใต้ดิน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว อีกทั้ง การลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ทำให้การควบคุมตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุและรังสีรั่วไหลจึงน้อยลงตามไปด้วย
ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า SMR ที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้า Akademik Lomonosov เป็นโรงไฟฟ้า SMR แบบลอยนํ้า ขนาด 70 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองชูคอตกา ทางตอนเหนือของประเทศรัสเซีย สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 1 แสนคน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ HTR-PM ของประเทศจีน ขนาด 210 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 3 แสนครัวเรือน
นอกจากนี้ หลายประเทศต่างมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ในอนาคต อาทิ ประเทศนอร์เวย์ แคนาดาตั้งเป้าดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR แห่งแรกภายในปี 2577 และเกาหลีใต้ได้ประกาศร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR ให้พร้อมใช้งานด้วย
แหล่งข้อมูล
https://www.thansettakij.com/climatecenter/new-energy/604595