ในวันนี้ที่ ภาวะโลกร้อน ยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็น ภาวะโลกเดือด “ภาคอุตสาหกรรม” ทั่วโลก ต่างต้องตกเป็นจำเลยสำคัญตัวการก่อให้เกิดวิกฤตนี้แบบยากที่จะถกเถียงอะไรได้ เพราะตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution) เพื่อให้มนุษย์มีนวัตกรรมใหม่ๆและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็ต้องแลกด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างมีนัยสำคัญ
มาในวันนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อมวลมนุษยชาติในเชิงประจักษ์ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Chage ที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น เกือบทุกภูมิภาคบนโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิส่งผลต่อปริมาณฝน โดยทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น
ส่วนมหาสมุทรก็ต้องดูดซับความร้อนอันเกิดจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ชุมชนริมชายฝั่งและผู้คนที่อยู่อาศัยบนเกาะต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นกลุ่มแรกๆ และการที่มหาสมุทรต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ จะส่งผลให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอีกด้วย
นี่เป็นแค่หายนะเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดจากการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ โดยตัวการสำคัญคือภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ก็มาจากอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอันดับหนึ่ง
- อุตสาหกรรมการผลิต ร้อยละ 31
- การผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 27
- การเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ร้อยละ 19
- การขนส่ง ร้อยละ 16
- กระบวนการปรับอากาศ ร้อยละ 7
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากอุตสาหกรรมการผลิต การผลิตไฟฟ้า การเกษตรกรรมและปศุสัตว์ และการขนส่ง ต่างตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จนนำสู่การประกาศเป้าหมายที่จะเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050” ซึ่งแนวทางในการนำประเทศไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน คือ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาสนับสนุน รวมถึงการสร้างต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ภายใต้ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และชุมชน
และในส่วนการสร้างต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufactures Association: TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (Thailand Concrete Association: TCA) และภาคีต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)” เพื่อดำเนินการด้านนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาสนับสนุนการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับประเทศไทย
โดยแนวทางที่ สอวช. และหน่วยงานพันธมิตรจะได้เดินหน้าดำเนินการ คือ โครงการการศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล ที่จะช่วยเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพัฒนานโยบาย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ และสนับสนุนการดำเนินการ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ โดยเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียวในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่จังหวัดสระบุรี
ทั้งนี้ การศึกษาจะครอบคลุมเกี่ยวกับเมทานอลที่ผลิตได้จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้ก๊าซไฮโดรเจนร่วมด้วย ทั้งในด้านความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี การวิเคราะห์ศักยภาพตลาด ความคุ้มทุน ภาพรวมของตลาด ราคาของสินค้า Value chain ปริมาณอุปสงค์และอุปทาน และข้อจำกัด กฎหมายต่างๆ ของเมทานอลจากการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการลงทุนเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ผลิตภัณฑ์เมทานอลอย่างแพร่หลาย คาดว่าจะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยลงได้ถึง 12 ล้านตัน โครงการนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยน “วิกฤติโลกร้อน” ให้เป็นโอกาสในการพัฒนา “เศรษฐกิจสีเขียว” ที่จะช่วยทั้งลดก๊าซเรือนกระจก และยังได้พัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
โดย 7 แนวทางการดำเนินโครงการการศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล มีดังนี้
- การวิเคราะห์ปริมาณและความสามารถในการผลิตไฮโดรเจนในประเทศไทย
- การวิเคราะห์ปริมาณและความสามารถการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ในประเทศไทยและในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)
- การวิเคราะห์ปริมาณและความสามารถในการใช้งาน Methanol ในประเทศไทย
- นโยบาย และ Roadmap ของประเทศไทย ในการทำ Carbon Neutrality และการอัปเดตข้อมูลการประชุมประเทศภาคี COP28
- การทำวิจัยเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือภาษีคาร์บอน Carbon Credit ในประเทศไทย
- การทำวิจัยเกี่ยวกับ Carbon Capture and Utilization
- ออกแบบแนวทางการเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลจากการศึกษากับงานสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)
และในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า
“สอวช. เป็นหน่วยประสานงานกลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)”
“และจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) ทุกปี ได้เห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เข้าถึงโอกาสการได้รับการสนับสนุนจากกลไกระดับนานาชาติที่ปัจจุบันมีการพัฒนาต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก”
“แต่เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology) จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มีศักยภาพและทรัพยากรต่างๆ เพียงพอที่จะพัฒนา เล็งเห็นการมีพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่าง SARABURI SANDBOX จะเป็นการแสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจังกับระดับนานาชาติ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างพุ่งเป้า ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุนระดับนานาชาติและสร้างผลกระทบสูงจากการรวมกันดำเนินการใน 1 พื้นที่”
“โดยพื้นที่จังหวัดสระบุรีมีความพร้อมด้วยภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของพื้นที่นี้ จึงมีความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่านและสร้างผลกระทบสูงในการให้เกิดพื้นที่ Net Zero Emission ซึ่งภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ สอวช. ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล เป็นโครงการเริ่มต้นด้วย”
ด้าน ดร.ชนะ ภูมี นายก TCMA ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง TCMA และ สอวช. ในวันนี้ นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือเดินหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาสนับนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete รวมถึงเชื่อมโยงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)”
“โดยโครงการแรกที่จะร่วมกันดำเนินการ คือ ‘การศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล’ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ครอบคลุมด้านเทคโนโลยีห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ปริมาณอุปสงค์ อุปทาน (Demand Supply) กฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ และเชื่อมโยงผลการศึกษากับการดำเนินงานภายใต้สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกลไกระดับนานาชาติ”
“เพราะการสามารถใช้ประโยชน์ CO2 ให้เป็นผลิตภัณฑ์เมทานอล (Methanol) จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการหมุนเวียนคาร์บอนสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียวในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี ทั้งนี้ ประมาณการว่า ด้วยวิธีการนี้ จะสามารถช่วยประเทศไทยลดก๊าซเรือกระจกได้ถึง 12 ล้านตัน CO2 ต่อปี”
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่เราต้องติดตามผลลัพธ์ของการนำไปปรับใช้จริงตามแผนยุทธศาสตร์ที่กล่าวมานี้ ซึ่งแน่นอนว่าหากทำได้ นอกจากเราจะได้ต้นแบบเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ แล้ว ภารกิจนี้ยังจะช่วยยกระดับให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยค่อยๆ หลุดพ้นจากการเป็นตัวการสำคัญในการปล่อย CO2 และขยับเข้าใกล้เส้นชัยของการมี “เศรษฐกิจสีเขียว” ดังที่หลายภาคส่วนคาดหวังไว้ได้ ไม่นานเกินรอ
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/08/18/7-ways-to-use-co2-to-methanol-product/