ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของการลงทะเบียน “ดิจิทัล วอลเลต” ผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ที่มีปัญหาวุ่นวาย กลายเป็นมหากาพย์การเงิน จนเกิดคำถามง่ายๆ ในสังคมไทยว่า แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” หายไปไหน ทำไมรัฐบาลจึงไม่นำมาใช้ จะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย สร้างทางเลือกใหม่ เพื่ออะไร?
อันนั้นก็ว่ากันไป รัฐบาลอาจมีเหตุผลเฉพาะด้าน แต่เรื่องที่อยากฉายภาพในวันนี้คือ “เป๋าตัง” จะมีโอกาสเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ต่อยอดความสำเร็จตามวัตุประสงค์ที่เคยตั้งไว้หรือไม่
จุดประสงค์ของการเปิดแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อเป็นช่องทางจัดสวัสดิการของรัฐ ตั้งแต่บริการด้านการเงินออนไลน์ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ บริการธนาคาร การใช้สิทธิสุขภาพ โครงการเยี่ยวยาประชาชน บริการต่างๆ หรือ ธุรกรรมของร้านค้าบริการต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพ เบี้ยผู้สูงอายุ การยื่นภาษี การขอคืนภาษี งานทะเบียนราษฎร์ ค่าปรับจราจร เสนอ/ติดตามตรวจสอบนโยบายภาครัฐ เป็นต้น
ด้วยความที่ทีมงานพัฒนาแอปฯเป๋าตัง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนรุ่นใหม่ เข้าใจถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้ “ง่าย” แม้กระทั่งคนอายุ 60 อัพ ก็ใช้ได้ เห็นได้จากสถิติการใช้งาน บางวันมียอดใช้จ่ายเกือบร้อยล้านบาท ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการรองรับ ทั้งโครงการเราไม่ทิ้งกัน, เราเที่ยวด้วยกัน, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน และโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคือ “คนละครึ่ง”
อย่างไรก็ตาม เส้นทางแอปฯเป๋าตัง ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะกว่าจะเข้าที่ เข้าทาง ก็เจอปัญหาอุปสรรคพอสมควร ตั้งแต่การยืนยันตัวตนไม่ได้, ไม่สามารถเข้าระบบลงทะเบียน รวมไปถึงจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่มากนักในช่วงเริ่มต้น จนกระทั่งเมื่อระบบได้รับการพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไข ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันนี้กว่า 40 ล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ
แอปพลิเคชันเป๋าตัง พัฒนาจนทำอะไรได้หลายอย่าง มากกว่าแค่รับเงินเยียวยา เช่น ในช่วงโควิดระบาด ก็ใช้สำหรับลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19, ใช้สำหรับจองซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล หุ้นกู้ของเอกชน ทองคำออนไลน์ เพิ่มช่องทางในการลงทุน, ตรวจสอบข้อมูลยอดหนี้เงินกู้คงเหลือ ดอกเบี้ยสะสม วันครบกำหนดชำระ และข้อมูลการชำระเงินของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. รวมถึงซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ในราคา 80 บาท จนหลายคนยกให้เป็น “ซูเปอร์แอป”
ความสำเร็จของโครงการ “คนละครึ่ง” ทำให้ชาวบ้าน ร้านตลาด คนเฒ่า คนแก่ อากง อาม่า คนต่างจังหวัด หรือ คนชายขอบ ที่ถูกมองว่าแอนตี้โซเชียล เล่นโซเชียลไม่เป็น หรือนิยมใช้จ่ายแต่เงินสด หันมาจับจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างถล่มทลาย นำพาประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
แต่เป้าหมายแท้จริของ “เป๋าตัง” ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ต้องการพัฒนาต่อยอดไปสู่รูปแบบการเงินรายบุคคล สื่อกลางอนุมัติสินเชื่อ เพื่อนำไปลงทุนเลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เปิดร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านขายของชำ หรือ พัฒนาเป็นแพล็ตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ฯลฯ แบบเดียวกับเฟสบุ๊ค ติ๊กต๊อก สร้าง โลคัล อีโคโนมี หรือ เศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีพลัง
ปัจจุบันโลกออนไลน์ กำลังกลายเป็น “ยาพิษ” สำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นช่องทางการขายสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ จากเดิมมีเพียงแพล็ตฟอร์มตัวกลางรับจำหน่ายสินค้า กินค่าธรรมเนียม วันนี้มีแพล็ตฟอร์มขายตรงจากโรงงาน โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ต้นทุนที่ถูกอยู่แล้ว ถูกลงอีก ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย นำมาสู่การปิดตัวของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ไม่มีช่องทางการต่อสู้กับสินค้าข้ามชาติเหล่านั้น
ซึ่งในโลกออนไลน์ ก็มีหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า Lazada, Shoppee เข้ามา คนซื้อออนไลน์มากขึ้น ทำไมไม่ทำแพล็ตฟอร์ม “เป๋าตัง” แข่งกับ Lazada หรือ Shoppee เพราะมีฐานลูกค้าคนลงทะเบียนไว้จำนวนมาก ที่สำคัญผ่านการยืนยันตัวตนมาแล้วทั้งนั้น แถมเงินค่าธรรมเนียม ก็ไม่ไหลออกนอกประเทศ ถ้าภาครัฐมีกฎ ระเบียบ ไม่เอื้อให้ทำได้ ก็เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารโครงการก็น่าจะเป็นไปได้ เริ่มต้นจากกลุ่มสินค้า “โอทอป” ก่อนก็ได้ เหมือนครั้งหนึ่งเราเคยมีเว็บท่าอย่าง THAILAND.COM ซึ่งเกิดผิดช่วงเวลา เพราะมาก่อนเวลาไปหน่อย
ถ้ารัฐบาลไทยสามารถพัฒนาแพล็ตฟอร์มดีๆ ของไทยที่มีอยู่แล้ว เว็บท่าดีๆ ของไทยก็มี รอแค่หยิบมาสานต่อ ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นสนามการค้าออนไลน์ให้กับคนไทย ได้มีเวทีสู้กับสินค้าข้ามชาติ อย่าปล่อยทิ้งให้เสียของ เพียงเพราะไม่ใช่นโยบายของพรรค โลกยุคนี้มันควรจะเลยจุดความคิดแบบนั้นมาแล้ว
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/08/05/paotang-application-success-case/