‘การ์ทเนอร์’ วิเคราะห์สวนกระแส คาดสิ้นปี 68 โปรเจกต์ ‘Gen AI’ ถูกยกเลิกถึง 30 เปอร์เซนต์

Loading

การ์ทเนอร์ คาด สิ้นปี 2568 โปรเจกต์ต่าง ๆ จาก เจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI : GenAI) อย่างน้อย 30% จะถูกยกเลิกหลังการพิสูจน์เชิงแนวคิด หรือ Proof of Concept (PoC) เนื่องจากข้อมูลคุณภาพต่ำ มีการควบคุมความเสี่ยงไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น หรือมูลค่าทางธุรกิจไม่ชัดเจน

“ริต้า ซาลลัม” รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “หลังจาก GenAI เป็นกระแสฮือฮาเมื่อปีก่อน ผู้บริหารต่างจดจ้องที่จะได้เห็นผลตอบแทนการลงทุนใน GenAI แต่ว่าองค์กรต่างๆ กลับต้องฝ่าฟันเพื่อพิสูจน์ และรับรู้ถึงคุณค่าของมัน ตามที่ขอบเขตของแผนงานด้าน GenAI ขยายออกไป ประกอบกับภาระทางการเงินในการพัฒนาและการนำโมเดล GenAI ไปใช้งานก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

การ์ทเนอร์ ระบุว่า ความท้าทายสำคัญที่องค์กรเผชิญ คือ การพิสูจน์ให้เห็นถึงความคุ้มค่าการลงทุนเป็นจำนวนมหาศาลกับ GenAI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะแปลงเป็นผลประโยชน์ทางการเงินโดยตรงได้ยาก ทั้งนี้องค์กรมากมายกำลังใช้ประโยชน์จาก GenAI เพื่อเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ และสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้มาพร้อมกับต้นทุนมหาศาลตั้งแต่ 5 ล้านดอลลาร์ ไปจนถึง 20 ล้านดอลลาร์

“น่าเสียดายที่ GenAI ไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ และต้นทุนก็ไม่สามารถคาดเดาได้เหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ ดังนั้นสิ่งที่องค์กรจ่าย อาทิ ยูสเคสที่ลงทุนและวิธีการนำไปใช้ที่เลือก ล้วนกำหนดต้นทุนทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เข้ามาดิสรัปตลาดและต้องการฝัง AI เข้าไปในทุกที่ หรือต้องการมุ่งเน้นที่การเพิ่มผลผลิต หรือการขยายกระบวนการเดิมที่มีอยู่ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีต้นทุน ความเสี่ยง ความผันแปร ส่งผลกระทบเชิงกลยุทธ์ในระดับที่ต่างกัน” ซาลลัม กล่าว

ผลวิจัยการ์ทเนอร์ชี้ว่า การพัฒนา GenAI ไม่ว่าเพื่อเป้าหมายใด ต้องอาศัยความอดทนที่สูงกว่ากับผลลัพธ์ทางอ้อม สำหรับวางหลักเกณฑ์การลงทุนการเงินในอนาคต เทียบกับผลตอบแทนการลงทุนทันที (ROI) ในอดีตผู้บริหารระดับสูงด้านการเงิน หรือ CFO หลายรายไม่สะดวกใจลงทุนวันนี้ เพื่อมูลค่าทางอ้อมในอนาคต ซึ่งความลังเลใจนี้อาจทำให้การจัดสรรเม็ดเงินลงทุนถูกเบี่ยงเบนไปในทางยุทธวิธีมากกว่าผลลัพธ์เชิงกลยุทธ์

ตระหนักถึงมูลค่าทางธุรกิจ

ผู้ที่นำ AI มาใช้ก่อนใคร หรือที่เรียกว่า Earlier Adopter ทั้งในอุตสาหกรรม และกระบวนการธุรกิจต่างรายงานถึงพัฒนาการและการปรับปรุงด้านธุรกิจที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามยูสเคสใช้งาน ประเภทงาน และระดับทักษะของคนทำงาน ผลการสำรวจผู้นำทางธุรกิจของการ์ทเนอร์ล่าสุด จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 822 ราย ที่จัดทำช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนปี 2566 พบว่า องค์กรที่นำ AI มาใช้มีรายได้เพิ่มขึ้น 15.8% ประหยัดต้นทุนขึ้น 15.2% และช่วยปรับปรุงประสิทธิผลการผลิตโดยเฉลี่ย 22.6%

“ดาต้านี้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญสำหรับการประเมินมูลค่าทางธุรกิจที่ได้มาจากนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ GenAI แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องยอมรับความท้าทายการประเมินมูลค่าดังกล่าว เนื่องจากผลประโยชน์ต่างๆ จะขึ้นกับบริษัทเป็นหลัก รวมถึง ยูสเคส บทบาท และแรงงานอย่างเฉพาะ บ่อยครั้งที่ผลกระทบอาจไม่เผยชัดเจนทันที และอาจเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งความล่าช้านี้ไม่ได้ลดผลประโยชน์ที่อาจได้รับลงแต่อย่างใด” ซาลลัม กล่าวเสริม

คำนวณผลกระทบต่อธุรกิจ

การ์ทเนอร์ รายงานด้วยว่า จากการวิเคราะห์มูลค่าทางธุรกิจ และต้นทุนรวมของนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ GenAI องค์กรต่างๆ สามารถกำหนดผลตอบแทนจากการลงทุนโดยตรง (ROI) และผลกระทบต่อมูลค่าธุรกิจในอนาคตได้ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบเกี่ยวกับนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ GenAI

“หากผลลัพธ์ธุรกิจเป็นไปตามเป้าหรือเกินความคาดหวัง ถือเป็นโอกาสการขยายการลงทุน โดยเพิ่มขอบเขตนวัตกรรมและการใช้งาน GenAI ให้ครอบคลุมฐานผู้ใช้ที่กว้างขึ้น หรือนำไปใช้ในแผนกธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาด อาจจำเป็นต้องพิจารณานวัตกรรมทางเลือก อาศัยข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ ช่วยให้องค์กรจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีกลยุทธ์พร้อมกำหนดแผนดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคต” ซาลลัม กล่าวสรุป

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1138124


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210