ข่าวล่าสุดที่สะเทือนธุรกิจเทเลเฮลท์ทั่วโลก และทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลกับอนาคตธุรกิจนี้ก็คือ Walmart ตัดสินใจปิดธุรกิจเทเลเฮลท์ โดยอ้างเหตุผลเรื่องต้นทุนและปัญหาการเบิกจ่ายจากบริษัทประกันสุขภาพ ซึ่งส่งผลกับศูนย์สุขภาพทั้ง 51 แห่งและการให้บริการแบบรีโมตแคร์ทั้งหมด
การตัดสินใจปิดตัวธุรกิจส่อให้เห็นถึงความซับซ้อนของการทำเทเลเฮลท์ เพราะกระทั่งบริษัทขนาดใหญ่ยังไปต่อไม่ไหว ด้วยปัญหาต้นทุนและความยากในการหาโมเดลธุรกิจที่จะทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน สถานการณ์นี้อาจเป็นสัญญาณของการถดถอย หรืออาจเป็นโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโมเดลธุรกิจเทเลเฮลท์
ในตลาดโลก ธุรกิจเทเลเฮลท์เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการระบาดของโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ธุรกิจเทเลเฮลท์คาดว่าจะสร้างรายได้ 4-6 พันล้านบาทในปี 2567 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงหนุนจากนโยบายประกันสุขภาพกลุ่ม และการยอมรับของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจนี้ก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก เช่น ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ระบบข้อมูลที่ไม่เป็นระบบและกระจัดกระจาย รวมถึงปัญหาเรื่องกรมธรรม์ของบริษัทประกันที่ยังมีข้อจำกัดในการเบิกจ่าย
ถึงจะเต็มไปด้วยความท้าทาย อนาคตของเทเลเฮลท์ก็ยังมีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น แนวโน้มการปรับเพิ่มการเบิกจ่ายของบริษัทประกัน การเข้าถึงฐานผู้ใช้งานที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการ
ในส่วนของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ความก้าวหน้าในการตรวจร่างกายเสมือนจริงกำลังลดช่องว่างระหว่างการดูแลแบบตัวต่อตัวและการดูแลระยะไกล จะทำให้เทเลเฮลท์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการดูแลที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับสตาร์ตอัปในกลุ่มเทเลเฮลท์ การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจคือ
- การผสมผสานการระหว่างการให้บริการพบแพทย์ตัวต่อตัวกับการให้บริการแบบรีโมตแคร์
- การลงทุนในเทคโนโลยี AI และMachine Learning เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการประมวลผลข้อมูลการรักษาและประวัติการใช้ยา
- การรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจให้กับผู้ป่วย
- การเร่งสร้างความร่วมมือกับบริษัทประกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่ Telehealth สามารถให้บริการต่อยอดได้
- การทำงานร่วมกับภาครัฐและสาธารณสุขท้องถิ่น เพื่อทำให้บริการเทเลเฮลท์เข้าถึงผู้ใช้บริการระดับชุมชนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่นอกเมืองใหญ่
การปิดตัวลงของเทเลเฮลท์ของหลายแพลตฟอร์มในช่วงนี้ อาจดูเหมือนธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง แต่ถ้ามองตามความเป็นจริง ความต้องการบริการสุขภาพระยะไกลยังคงมีอยู่จริงและยังไม่ได้รับการตอบสนองได้ดีเพียงพอ
การดูแลสุขภาพระยะไกลยังคงเป็นคำตอบสำหรับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยหนาแน่น และช่วยตอบโจทย์การให้บริการสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจจะสามารถปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน
จุดเปลี่ยนอยู่ที่การเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในระบบการดูแลสุขภาพ และทำหน้าที่เป็น “โซลูชั่น” ให้กับทุกคน มากกว่าการอยู่ลำพังและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทุกอย่างขึ้นมาเอง
ตลาดเทเลเฮลท์ทั่วโลกและในประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการเติบโต การแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนโดยการทำงานแบบการบูรณาการกับผู้ให้บริการรายอื่น และใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนจะทำให้สตาร์ตอัปเทเลเฮลท์จะอยู่รอดและเติบโตได้ เพราะความต้องการใช้บริการมีแต่จะเพิ่มขึ้นไม่มีวันลดลง
แหล่งข้อมูล