ทักษะสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Loading

ในยุคปัจจุบันที่ความยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม “ทักษะสีเขียว” มักนำมาใช้ในธุรกิจหรือองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ทักษะสีเขียวเป็นสิ่งจำเป็นไม่เพียงเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวด้วย

รองศาสตราจารย์จตุรงค์ นภาธร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยพบว่าช่องว่างระหว่างระบบการศึกษาและพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานของประเทศไทยกับความต้องการของตัวองค์การหรือบริษัทในการปฏิบัติงานสีเขียวยังคงมีอยู่

กล่าวคือ ระบบการศึกษาและพัฒนาทักษะในประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการปฏิบัติงานสีเขียวได้ทันที (industry-ready) ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการขององค์การหรือบริษัท

ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้องค์การหรือบริษัทชั้นนำในประเทศไทยหลายแห่ง ที่หันมาใส่ใจกับการปฏิบัติงานสีเขียว/การรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นต้องลงทุนฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานของตนเองให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานสีเขียวตามที่ต้องการ ทั้งในรูปแบบของการฝึกอบรมในห้องเรียน การศึกษาดูงาน การฝึกอบรมในงาน (On-the-job training) การโค้ชขิ่ง การให้พนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่าเป็นพี่เลี้ยงคอยสอนงานพนักงานใหม่หรือพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยกว่า (Mentoring)

การติดตามบุคคลต้นแบบ (Job Shadowing) และการประพฤติปฏิบัติตัวของผู้บริหารเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพนักงาน (Role Model)

การแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาทักษะสีเขียว ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล สถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย และองค์การหรือบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย รองศาสตราจารย์จตุรงค์ ได้เสนอแนะวิธีการดังต่อไปนี้

1 ภาครัฐบาลต้องหันมาให้ความใส่ใจกับการนำเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม/การจัดการสีเขียวเข้าไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และต้องจัดการให้มีการฝึกทักษะของผู้เรียนระดับอาชีวศึกษาให้มีทักษะต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการขององค์การหรือบริษัทและสามารถปฏิบัติงานในสถานการณ์จริงได้ทันที รวมถึงต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษากับองค์การ หรือมหาวิทยาลัยกับองค์การในการออกแบบหลักสูตรการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการสีเขียวให้ตรงกับความต้องการขององค์การหรือบริษัทต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตลาดแรงงาน (Skill Shortage) และการผลิตบุคลากรที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Skill Mismatch)

2 ภาครัฐบาลต้องกำหนดนโยบายในการให้สิ่งกระตุ้นจูงใจ (Incentive) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ภาษี กับองค์การหรือบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานสีเขียวหรือการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อที่องค์การเหล่านั้นจะหันมาให้ความใส่ใจกับการปฏิบัติงานสีเขียวหรือการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อาหารสยาม จำกัด (มหาชน) ระบุว่าเมื่อรัฐบาลยกเลิกนโยบายซื้อขายเครดิตคาร์บอน บริษัทก็ยกเลิกแนวปฏิบัติงานสีเขียวหรืองานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมไป เพราะไม่มีสิ่งกระตุ้นจูงใจใด ๆ ในการดำเนินการ

3 ภาครัฐบาลก็ต้องให้ความใส่ใจกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและนโยบาย/แนวปฏิบัติในการรักษาสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนให้มากยิ่งขึ้น มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างจริงจัง

ไม่ใช่คิดว่าเรื่องงานสีเขียว/งานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงวาทกรรม เพราะหากเป็นกรณีหลังประเด็นของการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว/การสร้างงานสีเขียว/การเติบโตอย่างยั่งยืนในประเทศไทยคงจะประสบความสำเร็จได้ยาก

4 สถาบันอาชีวศึกษาต้องหันมาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตัวองค์การหรือบริษัทและมีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะการสอดแทรกเนื้อหาความรู้และการฝึกทักษะในการปฏิบัติงานสีเขียวหรืองานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา

ทั้งนี้ เพราะสถาบันอาชีวศึกษาถือเป็นกลจักรสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าสถาบันดังกล่าวมีแนวโน้ม ที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะสีเขียว ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดและสามารถปฏิบัติงานได้ทันที

5 มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีในด้านการจัดการสีเขียว/การจัดการสิ่งแวดล้อมให้เน้นทั้งด้านทฤษฎีและการฝึกทักษะในการปฏิบัติงานไปพร้อมกัน และอาจสอดแทรกกรณีศึกษาด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้ที่จบการศึกษามีความรู้และทักษะที่จะสามารถปฏิบัติงานสีเขียว/งานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ทันที

มหาวิทยาลัยควรร่วมมือกับองค์การหรือบริษัทต่าง ๆ ในการออกแบบหลักสูตรด้านการจัดการสีเขียว/การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ตอบโจทย์และความต้องการของบริษัทให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การผลิตบุคลากรของมหาวิทยาลัยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ (องค์การหรือบริษัท) ได้มากยิ่งขึ้น

6 มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับโจทย์/ปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมมาเพื่อช่วยองค์การ/บริษัทต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมเหล่านั้นแก้ไขปัญหาด้านการจัดการสีเขียวหรือการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาจริง ๆ ที่องค์การ/บริษัทเหล่านั้นประสบอยู่

การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะทำให้องค์การ/บริษัทต่าง ๆ มองเห็นความสำคัญของมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้นแล้ว นิสิต/นักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (บัณฑิตศึกษา) ยังจะได้มีโอกาสฝึกแก้ไขปัญหา/โจทย์ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาจริง ๆ ของภาคอุตสาหกรรม และเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ก็จะเข้าใจสภาพปัญหาและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมรวมถึงเริ่มปฏิบัติงานในองค์การได้ทันที (Industry-ready)

7 องค์การหรือบริษัทโดยเฉพาะองค์การขนาดเล็กและขนาดกลางควรหันมาให้ความใส่ใจกับงานสีเขียว/งานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากในความเป็นจริง แต่ก็มีโอกาสจะเป็นไปได้หากภาครัฐบาลมอบสิ่งกระตุ้นจูงใจ (Incentive) ที่เหมาะสมกับความต้องการขององค์การหรือบริษัท)

เพราะหากองค์การเหล่านั้นมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่อาจจะวัดเป็นตัวเงินในระยะสั้นได้ยาก ก็จะทำให้โอกาสของการมุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทยเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีกับทุก ๆ ภาคส่วน รวมถึงตัวองค์การหรือบริษัทเองในระยะยาว

การที่องค์การหรือบริษัทโดยเฉพาะองค์การขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทยหันมาให้ความใส่ใจกับงานสีเขียว/งานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานสำหรับบัณฑิตที่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการสีเขียวมากขึ้น และน่าส่งผลต่อจำนวนลูกค้าที่น่าจะเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะลูกค้าผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น) กำไรที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้น และชื่อเสียงที่น่าจะดีขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1127477


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210