อนาคตอุตสาหกรรมเพลงจะเป็นอย่างไร? เมื่อ “Suno” ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ChatGPT แห่งวงการดนตรีสามารถช่วยแต่งเพลงได้ในเวลาไม่กี่วินาที เพียงป้อนคำสั่งสไตล์ดนตรีที่ต้องการ จนสร้างความไม่พอใจให้กับศิลปินระดับโลกหลายราย
“Suno” เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังมาแรงและเป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียล ถูกยกย่องว่าเป็น ChatGPT แห่งวงการดนตรี ด้วยความสามารถในการช่วยรังสรรค์แต่งเพลงได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที เพียงป้อนคำสั่งประเภทและสไตล์ดนตรีที่ต้องการ เสริมด้วยเนื้อเพลงอีกเล็กน้อย Suno ก็สามารถรังสรรค์บทเพลงแบบเต็มรูปแบบออกมาได้อย่างไพเราะ
ตามข้อมูลที่ระบุในนิตยสาร Rolling Stone บริษัทผู้พัฒนา Suno ก่อตั้งขึ้นราว 2 ปีที่แล้ว โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน machine learning จากเคมบริดจ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกลุ่มดังกล่าวมีความสนใจในเรื่องของเสียงเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในช่วงแรก เนื้อเพลงที่ Suno รังสรรค์ขึ้นมักเป็นประโยคธรรมดาที่หาความเชื่อมโยงกันไม่ค่อยจะได้นัก ซึ่งใครได้เห็นหรือได้ฟังคงเป็นอันต้องหลุดหัวเราะทุกราย แต่ผู้ใช้สามารถทำให้ผลงานเพลงออกมาเนี๊ยบสมบูรณ์แบบได้ หากมีเนื้อเพลงที่แต่งไว้เองอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นค่อยป้อนเนื้อเพลงดังกล่าวเข้าไปแล้วให้ปัญญาประดิษฐ์รังสรรค์ทำนองเพลงให้
คุณภาพของเพลงที่ได้จะแตกต่างกันไปซึ่งผู้ใช้สามารถปรับแต่งและสร้างเพลงใหม่ได้สูงสุดถึง 10 เพลงต่อวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้ที่รู้สึกว่า 10 เพลงต่อวันนั้นไม่เพียงพอ สามารถจ่ายค่าบริการเป็นแพ็คเกจได้ที่ 10 เหรียญต่อเดือน (ราว 350 บาท) เพื่อเข้าถึงฟีเจอร์สร้างสรรค์ผลงานเพลงได้มากถึง 500 เพลงและยังสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ผ่านการอัปโหลดลงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Spotify หรือ Apple Music
Mikey Shulman หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Suno ให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone ว่าเป้าหมายของการพัฒนา Suno ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่ศิลปิน แต่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ดนตรีได้ง่ายขึ้นและมีความสนุกสนาน นอกจากนี้ Suno ยังสามารถระบุได้ว่าเนื้อเพลงที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป ละเมิดลิขสิทธิ์ของศิลปินท่านใดหรือไม่
ความสามารถในการตรวจจับลิขสิทธิ์ของ Suno กลับกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้าง ด้วยข้อสังเกตที่ว่า ปัญญาประดิษฐ์ Suno ถูกฝึกให้เรียนรู้การแต่งเพลง จากเพลงที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วหรือไม่? ซึ่งทางบริษัทยังไม่ได้ออกมาโต้ตอบในประเด็นดังกล่าว
ขณะที่ทางฝั่งศิลปินชื่อดังระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Elvis Costello, REM, Billie Eilish, Katy Perry และ Jon Bon Jovi ต่างออกมาแสดงความกังวลต่ออิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ที่มีผลกระทบของอุตสาหกรรมเพลง โดยร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้บริษัทผู้พัฒนา Suno รับปากว่าจะหยุดพัฒนา AI ตัวดังกล่าว เพราะเกรงว่าบทบาทของนักแต่งเพลงและศิลปินจะถูกลดทอนคุณค่าไป หากถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่
สถานการณ์ที่น่ากังวลสำหรับอุตสาหกรรมเพลงหลังจากนี้ หากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ถูกพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ คือการแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้จากค่าลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Spotify หรือ Apple Music ที่อาจเต็มไปด้วยบทเพลงซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นจาก AI โดยเลียนแบบสไตล์จากศิลปินระดับโลก
ทั้งนี้ บริษัทผู้พัฒนา Suno ระบุว่าทุกเพลงที่สร้างขึ้นโดย AI ของบริษัทจะมีการฝังลายน้ำเอาไว้ เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าเป็นบทเพลงที่สร้างขึ้นโดย AI แต่ตัวลายน้ำที่ถูกฝังไว้จะไม่กระทบต่อการฟังของผู้ใช้งาน
ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจถัดจากนี้คงตกไปอยู่ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงต่างๆ ว่าจะมีการควบคุมเพลงที่สร้างขึ้นโดย AI อย่างไรบ้าง โดยเบื้องต้นสำหรับทาง Spotify ไม่ได้ปิดกั้นการอัปโหลดเพลงที่สร้างขึ้นโดย AI ให้อยู่บนแพลตฟอร์มแต่อย่างใด ภายใต้เงื่อนไขว่าเพลงเหล่านั้นต้องไม่ได้เลียนแบบผลงานของศิลปินคนใดคนหนึ่งโดยตรง
แหล่งข้อมูล