พลังงานสะอาด กระตุ้นดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

Loading

สนค. ชี้มาตรการทางการค้าสมัยใหม่ และการสร้างความเข้มแข็งทางการค้า พบพลังงานสะอาดเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งการเผาไหม้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จำนวนมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

โดย International Energy Agency ระบุว่า ในปี 2564 การเผาไหม้พลังงานปล่อย CO₂ เพิ่มขึ้น 1.3 % หรือ 423 ล้านตัน ทุกภาคส่วนทั่วโลกจึงร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ. 2608)

 นอกจากนี้ ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่สำคัญเริ่มบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ สหภาพยุโรปออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Cross Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับสินค้านำเข้าบางประเภท ในขณะที่หลายประเทศ อาทิ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ กาตาร์ จีน และญี่ปุ่น มีกลไกตลาดคาร์บอน ที่เป็นตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ระหว่างผู้ที่ปล่อยคาร์บอน และผู้ที่ดูดซับคาร์บอน ซึ่งเป็นเครื่องมือจูงใจให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในอนาคต หลายประเทศมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการบริหารจัดการ และการค้าเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมการรองรับมาตรการทางการค้าแนวใหม่ โดยแนวทางหนึ่งคือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) เพิ่มขึ้น      

เนื่องจากพลังงานสะอาดคือ พลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ปล่อยมลพิษตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การแปรรูป การใช้พลังงาน และการจัดการของเสียจากการผลิตหรือการใช้พลังงาน ตัวอย่างพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และพลังงานความร้อน

พลังงานสะอาดยังช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตพลังงานสะอาด และลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตอื่นที่ใช้พลังงานสะอาด โดยภาคเอกชนที่ผลิตพลังงานสะอาดสามารถขอรับใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) และได้รายได้จากการขาย RECs ดังกล่าว ให้กับผู้ผลิตอื่นที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด สำหรับผู้ผลิตที่ใช้พลังงานสะอาดสามารถใช้ RECs เพื่อแสดงกิจกรรมการลดการปล่อยคาร์บอนทางอ้อมได้ จึงช่วยลดจำนวน และต้นทุนการซื้อคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ การผลิตพลังงานสะอาดยังเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนโดยตรงมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด และคาร์บอนเครดิตเหล่านี้

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1112509


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210