‘Bioglitter’ กลิตเตอร์รักษ์โลก ลดปัญหา ‘ไมโครพลาสติก’

Loading

“กลิตเตอร์รักษ์โลก” โรงงานในอังกฤษ ผลิต “กลิตเตอร์” จากเส้นใยเซลลูโลสสังเคราะห์แทนพลาสติก ซึ่งย่อยสลายในแหล่งน้ำจืดได้อย่างปลอดภัย และสามารถแก้ไขปัญหา “ไมโครพลาสติก” ในธรรมชาติได้

สหภาพยุโรปประกาศแบน “กลิตเตอร์” ไปตั้งแต่เดือนต.ค.2023 เพราะเป็นหนึ่งในตัวการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะกลิตเตอร์ทำมาจาก “ไมโครพลาสติก” พลาสติกขนาดเล็กที่ใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลาย ด้วยขนาดที่เล็กของมันจึงทำให้ปนเปื้อนอยู่ในดิน และแหล่งน้ำ สามารถทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และทำให้น้ำเน่าเสียได้อีกด้วย จนทำให้ในช่วงนั้นชาวยุโรปแห่กันออกมาซื้อกลิตเตอร์ไปตุนเอาไว้ เพราะกลิตเตอร์เป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์เฉลิมฉลองต่างๆ อีกด้วย

แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อ Ronald Britton Ltd. บริษัทผลิตผงโลหะในสหราชอาณาจักรคิดค้น “Bioglitter” กลิตเตอร์รักษ์โลกสลายตัวตามธรรมชาติในแหล่งน้ำจืดภายในสี่สัปดาห์

กลิตเตอร์รักษ์โลก

จุดกำเนิดของกลิตเตอร์รักษ์โลกนี้เกิดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เมื่อบริษัท Ronald Britton ได้รับคำร้องจากลูกค้าเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกลิตเตอร์พลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัท

“ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมากจึงสามารถเข้าไปได้ทุกที่ และพวกมันถูกพบในสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตั้งแต่พืชไปจนสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ สัตว์ทะเล รวมไปถึงในร่างกายของมนุษย์เอง” พอล อนาสตัส ผู้อำนวยการศูนย์เคมีสีเขียวและวิศวกรรมสีเขียว มหาวิทยาลัยเยล

ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงหาทางผลิตกลิตเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านการย่อยสลายทางชีวภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ จนกลายมาเป็น Bioglitter ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม Bioglitter สามารถย่อยสลายได้เฉพาะในน้ำจืดเท่านั้น เนื่องจากน้ำจืดในแม่น้ำ และทะเลสาบทั่วโลกมีความคล้ายคลึงกัน แตกต่างจากแหล่งน้ำเค็มที่แต่ละพื้นที่มีลักษณะทางเคมีที่แตกต่างออกไป ซึ่งต้องใช้ความซับซ้อนในการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้

กลิตเตอร์ทำจากพืช

ปกติแล้วกลิตเตอร์จะผลิตจากแผ่นพลาสติกบางๆ สองชนิด ได้แก่ โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) และโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ที่เคลือบด้วยอะลูมิเนียมเพื่อความเงางาม แล้วตัดเป็นหกเหลี่ยมชิ้นเล็กๆ แต่กลิตเตอร์รักษ์โลกนี้ใช้เส้นใยเซลลูโลสสังเคราะห์แทนพลาสติก

สำหรับการผลิต Bioglitter เริ่มต้นจากการนำเยื่อไม้ยายูคาลิปตัสในยุโรป ที่ได้ฉลาก FSC หรือ PEFC การรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐานความยั่งยืนอย่างเข้มงวด ไปสกัดเป็นโมเลกุลเซลลูโลสในโรงงานที่เยอรมนี แล้วนำไปเคลือบด้วยอะลูมิเนียมและสี

เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ออกมาแล้ว ต้องส่งไปให้ TUV Austria บริษัททดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบการย่อยสลายในน้ำจืด ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลานานถึง 12 เดือน และมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 50,000 ดอลลาร์ พร้อมต้องแจกแจงรายละเอียดวัตถุดิบทั้งหมด

“เราต้องการสร้างความแตกต่างและแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของเราดีที่สุดในโลก” สตีเฟน คอตตอน ผู้จัดการฝ่ายขายของ Signmund Lindner กล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg

Bioglitter เป็นกลิตเตอร์ที่ย่อยสลายได้ในน้ำจืดที่ได้รับการรับรองเพียงชนิดเดียวในตลาด ปัจจุบันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างตระหนักถึงปัญหาไมโครพลาสติก ยิ่งทำให้ความต้องการกลิตเตอร์รักษ์โลกเพิ่มมากขึ้น จนถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า อย่างเช่น ต้นปี 2023 แบรนด์เสื้อผ้า Guess ได้เปิดตัวเสื้อยืดและเสื้อสเวตเตอร์ที่พิมพ์ลายด้วย Bioglitter

ด้วยธุรกิจที่ขยายตัวและความต้องการจะแก้ปัญหาไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกลิตเตอร์ ทำให้ Sigmund Lindner บริษัทผลิตแก้วและเซรามิกในเยอรมนี ตัดสินใจเข้าซื้อธุรกิจ Bioglitter จาก Ronald Britton เมื่อเดือนพ.ค.2023

แอนดรูว์ ธอมป์สัน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ Bioglitter ของบริษัท Sigmund Lindner ในเยอรมนี กล่าวว่า “ผมว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง จากการพูดคุยกับผู้ผลิตกลิตเตอร์หลายเจ้า ยังไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาพลาสติกได้เลย นอกจาก Bioglitter”

รักษ์โลกจริงแต่ยังสร้างปัญหา

แม้จะได้รับการรับรอง แต่ดูเหมือนว่า Bioglitter จะยังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อยู่ การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2021 พบว่ากากเพชรที่ย่อยสลายได้ส่งผลเสียต่อพืชในแหล่งน้ำจืดไม่แตกต่างจากกากเพชรทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นกากเพชรที่ผลิตจากเซลลูโลสช่วยกระตุ้นการเติบโตของเอเลียนสปีชีส์ได้อีกด้วย

ถึงแม้ว่ากากเพชรรักษ์โลกจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยให้มันย่อยสลายเอง ราฟาเอล ออราส์ ศาสตราจารย์ด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต กล่าวว่า กระบวนการย่อยสลายจะเพิ่มเซลลูโลสที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติให้กับระบบนิเวศ

บริษัทยังคงพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของ Bioglitter อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลิตเตอร์รักษ์โลกมีด้วยกันหลายเกรด ทั้งแบบใช้ทั่วไป และใช้กับร่างกายมนุษย์ โดยมีด้วยกัน 3 ชนิดให้ได้เลือกใช้ คือ Biosparkle มีความแวววาวเหมือนกับกลิตเตอร์ทั่วไป ในขณะที่ BioHolo มีความเป็นโฮโลแกรมมากกว่า ทำให้แสงสะท้อนได้ดีกว่า และ Biopure ที่มีสีเหลือบเกิดจากการใช้วัสดุธรรมชาติ และแร่ไมกาแทนการเคลือบด้วยอะลูมิเนียม

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1106689


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210