แชตบอท AI ในฐานะนักบำบัด มีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ามนุษย์ได้หรือไม่?!

Loading

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ความสามารถของ AI ได้ก้าวหน้าขึ้นมาก บางบริษัทใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนี้ในการดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุนในด้านสุขภาพจิตให้กับผู้คนที่หลากหลาย

ทำให้ในปัจจุบันแอปพลิเคชัน AI แชตบอทมีจุดประสงค์เพื่อการพูดคุย บำบัด และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางด้านอารมณ์ของผู้ใช้ เช่น Earkick, Woebot หรือ Wysa

โดยแชตบอทเหล่านี้ พร้อมพูดคุยได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา เมื่อบอกถึงปัญหาข้อข้องใจ บอทก็จะตอบกลับมาด้วยความเห็นอกเห็นใจ แสดงความเป็นห่วงเป็นใย พร้อมถามไถ่ รวมถึงให้คำแนะนำ เหมือนดั่งที่จิตแพทย์และนักบำบัดจริงๆ ทำให้แชตบอท AI มีประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงจิตแพทย์ หรือการรักษาเพื่อบำบัดจริงๆ ได้ ด้วยข้อจำกัดด้านใดก็ตาม

จากรายงานข้อมูลของแอปพลิเคชัน Earkick พบว่า 34 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ใช้แอปเป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน มีอารมณ์ที่ดีขึ้น และ 32 เปอร์เซ็นต์ มีความเครียด และวิตกกังวลลดน้อยลง ขณะที่อีกผลสำรวจหนึ่งยังพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ใช้ ChatGPT ในการปรึกษาและขอคำแนะนำด้านสุขภาพจิต มีความคิดเห็นว่าแชตบอทนั้นเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการบำบัดขั้นพื้นฐาน

เหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่นี่คือทางออกที่ใช่หรือเปล่า?

เมื่อการบำบัดทางจิต เป็นการรักษาและบำบัดที่มีองค์ประกอบของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความไว้วางใจกันและกัน ความใกล้ชิด และความฉลาดทางอารมณ์ โดยมีงานศึกษาหลายชิ้น ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ‘นักบำบัด’ และ ‘ผู้รับบริการ’ เป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จ

เดวิด โทลิน (David Tolin) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล และอดีตประธานสมาคมพฤติกรรมและการบำบัดทางปัญญา กล่าวว่า “เนื่องจากการรักษา ผู้ป่วยนั้นจะต้องรู้สึกเชื่อใจในตัวนักบำบัด จนเขาสัมผัสได้ว่านักบำบัด มีความอบอุ่น เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และเป็นใครสักคนที่พวกเขาสามารถพูดคุยด้วยได้”

ทว่าแม้การศึกษาที่ระบุว่า ผู้คนสามารถสานความสัมพันธ์และเกิดความผูกพันกับ AI แชตบอทได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว AI สามารถจำลองประสบการณ์การพูดคุยและสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และแท้จริง ได้เทียบเท่ากับนักบำบัดจริงๆ หรือไม่

เนื่องจากการแพทย์ทั่วไปมี ‘ผลทดสอบ’ และ ‘ตัวชี้วัดทางชีวภาพ’ นอกจากนี้การดูแลรักษาสุขภาพจิตนั้นเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น การสื่อสารของตัวผู้ป่วยที่อธิบายถึงปัญหา การรับรู้ ตลอดจนอาการที่รุนแรงขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถวัดผลความสำเร็จด้วยตัวเลขได้ง่ายๆ

ขณะเดียวกันในบางแง่มุม AI สามารถเข้ามาช่วยและแบ่งเบาภาระจากจิตแพทย์หรือนักบำบัดได้ เพราะการวิจัยเบื้องต้น AI สามารถช่วยให้แพทย์เลือกยาแก้ซึมเศร้าที่เหมาะกับผู้ป่วยเฉพาะราย อีกทั้งยังสามารถศึกษาคำพูดของผู้ป่วยเพื่อหาสัญญาณของอาการซึมเศร้าทางจิตใจ แต่โดยรวมแล้วยังขาดประสิทธิภาพในด้านการบำบัดจริง

เจ.พี. กรอดเนียวิซ (J.P. Grodniewicz) นักปรัชญาผู้ค้นคว้าและเขียนเกี่ยวกับข้อจำกัดของ AI ในการบำบัด กล่าวว่า บางทีแล้วการรักษาด้านจิตบำบัด อาจไม่ได้มีเทคนิคเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการสร้างบริบทที่สามารถทำให้ผู้คนเติบโตขึ้นจากประสบการณ์ ก้าวข้ามความเจ็บปวด และเผชิญหน้าความกลัวในจิตใจได้

“การขาดข้อมูลที่หนักแน่นในการดูแลรักษาสุขภาพจิตนั้น ถือเป็นเรื่องท้าทายอัลกอริทึมของ AI จะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลที่ดีในการฝึกฝน”

สุดท้ายนี้ หากพิจารณาจากสิ่งต่างๆ ที่สามารถวัดผลได้ อย่างการรายงานผลการพัฒนาทางด้านอารมณ์ของผู้ใช้ สามารถแสดงให้เห็นว่า แชตบอทสามารถปรับปรุงภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และปัญหาอื่นๆ ของผู้ป่วยได้

อีกทั้งความน่าสนใจยังพบว่า การพิมพ์ เขียน หรือระบายผ่านตัวอักษรนั้น เป็นวิธีการรับมือกับบาดแผลทางจิตใจที่มีประสิทธิภาพ

แต่ยังคงขาดหลักฐานและการวิจัยในด้านการเปลี่ยนแปลงทางประสาทจิตวิทยา ของสมองและจิตใจที่แน่ชัด ทำให้ข้อถกเถียงเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปเกี่ยวกับการใช้แชตบอทเพื่อการบำบัด

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=922413499446987&set=a.811136580574680


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210