แกะรอย “สวีเดน” สร้างดีเอ็นเอนวัตกรรม

Loading

สวีเดน เป็นประเทศชั้นนำในการสร้างนวัตกรรม ทั้งๆ ที่มีประชากรเพียง 10 ล้านกว่าคน โดยที่แทบไม่น่าเชื่อกันว่าเมื่อเกือบ 200 ปีก่อนหน้านี้ ประเทศนี้เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ผู้คนในสมัยนั้นต้องพเนจรไปทำมาหากินในต่างประเทศ

ว่ากันว่าที่ประเทศนี้สามารถปรับเปลี่ยนตนเองจากประเทศยากจน มาเป็นประเทศรัฐสวัสดิการรายได้สูง โดยรายได้มาจากนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น มาจากการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2385 ที่สร้างให้คนสวีเดนมีดีเอ็นเอในด้านนวัตกรรมติดตัวไปใช้ในการทำงาน ตั้งแต่ครั้งนั้นสวีเดนกำหนดให้เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนนาน 10 ปี โดยเป็นการจัดการเรียนการสอนโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อให้การเรียนการสอนสร้างความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่สอดคล้องกับพื้นที่ได้อย่างกลมกลืน

การศึกษาสำหรับเด็กสวีเดน เน้นสร้างการปลูกฝั่งความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก มากกว่าการบอกกล่าวความรู้ให้จดจำนำไปใช้

ใครอยากให้ลูกให้หลานมีดีเอ็นเอนวัตกรรม อย่าส่งลูกหลานไปเรียนอนุบาลท่องจำ สอบกันแหลกตั้งแต่ยังไม่ 5 ขวบเด็ดขาด เพราะการศึกษาก่อนการศึกษาภาคบังคับของสวีเดนไม่มีการสอบใดๆ ทั้งสิ้น การเรียนเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนให้เด็กได้คิด และเปลี่ยนความคิดออกเป็นการกระทำ สิบคนสิบความคิด ไม่มีเอ ไม่มีเอฟ

ถัดจากความคิดสร้างสรรค์ โรงเรียนในสวีเดนเน้นการสร้างทักษะการใฝ่รู้ เด็กๆ ได้ไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้รู้จักตั้งคำถาม ที่ไม่ใช่คำถามที่มาจากคุณครู ไม่มีการบรรยายสั่งสอนสารพัดเรื่องตอนเข้าแถวตอนเช้า

การยินยอมให้เด็กได้คิดเอง ได้ตั้งคำถามของตนเอง โดยไม่มีการตัดสินด้วยผลการสอบทำให้เด็กแทบทุกคนเกิดความมั่นใจในตนเอง เชื่อว่าตนเองมีค่า

พ่อแม่คนใดส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนที่มีการสอบก่อนถึงวัยอันสมควร พ่อแม่ต้องพึงระวังไว้ด้วยว่าลูกบางคนอาจรู้สึกด้อยค่า และหมดความมั่นใจในตนเองไปได้เลย

อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่สอนสามสี่ภาษาสามารถกระทำได้ แต่อย่าไปใส่ใจกับผลการทดสอบภาษาเหล่านั้นมากเกินไป แค่คอยดูว่าได้ฟังหลากหลายภาษาแล้ว เขาคิดอะไรของเขาเองได้มากขึ้นหรือไม่ เขาตั้งคำถามของเขาเองได้ดีขึ้นหรือไม่ก็พอแล้ว

นวัตกรรมหลายเรื่องจากสวีเดนเป็นผลงานของบริษัทสตาร์ตอัป ซึ่งได้มาจากพื้นฐานทักษะและทัศนคติความเป็นผู้ประกอบการใหม่ ที่มาจากการศึกษาภาคบังคับ

ในระยะเวลา 10 ปีที่เล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน เด็กๆ จะได้รับการสร้างสรรค์ทักษะในการทำงานร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบ รู้จักรักษาหน้าที่ของตนในการในทำงานร่วมกับคนอื่น รู้จักสื่อสารกันให้รู้เรื่อง จนกระทั่งการงานที่ช่วยกันคิดขึ้นมานั้นประสบความสำเร็จ

เด็กๆ จะถูกท้าทายให้ริเริ่มโครงการต่างๆ กับชุมชน หรือกับวิสาหกิจในชุมชน ได้ดูงาน ได้ทำความเข้าใจกิจการเหล่านั้น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ

เด็กๆ เหล่านี้ เรียนจากตำราน้อยกว่าเรียนจากชีวิตจริง เวลาฟังครูบรรยายในห้องเรียนน้อยกว่าเวลาที่ไปพบเจอสิ่งที่เป็นอยู่จริง ความรู้และทักษะที่ได้รับจึงไม่ล่องลอย แต่จับต้องได้เป็นรูปธรรม

เด็กได้ฝึกหัดการนำเสนอความคิดต่อวิสาหกิจต่างๆ โดยการร่วมมือสนับสนุนด้วยดีจากวิสาหกิจเหล่านั้น เด็กของประเทศนี้จึงเรียนน้อย แต่เก่งจริง และเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าเด็กๆ ในบ้านเรามากมาย จบมัธยมปลายก็ทำงานได้แล้ว ประกอบกับเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียม ใครอยากทำงานก็ทำไป ใครอยากเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนไป รายได้เมื่อหักภาษีแล้วแตกต่างกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับฟ้ากับดิน

หลายคนคงเลือกไม่ได้ที่จะมีโรงเรียนที่สอนแบบสวีเดนให้ลูกได้เล่าเรียน แต่ที่ทุกคนทำให้ลูกหลานได้คือช่วยกันส่งเสริมทักษะ และทัศนคติเหล่านี้ให้เกิดขึ้นและคงอยู่ในตัวลูกหลาน

ลูกหลานอายุยังไม่ถึง 6 ขวบ อย่าเอาผลการสอบมาเป็นเรื่องใหญ่โต เพราะไม่ใช่ดีเอ็นเอของนวัตกรรม ต้องช่วยกันสร้างความมั่นใจในตนเองให้กับเด็ก ต้องผลักดันให้เขากล้าคิด กล้าตั้งคำถาม ถ้าอยู่ในวัยประถมมัธยม ก็อย่าเอาคะแนนโอลิมปิกวิชาการมาเกทับกัน ช่วยกันสร้างโอกาสให้เขาได้สัมผัสความเป็นจริงเยอะๆ ให้เขาสื่อสารในเรื่องที่เป็นจริง วันหน้าเขาจะเป็นทั้งนักนวัตกรรมและผู้ประกอบการใหม่ที่ดี โดยไม่ต้องไปเสียเงินเรียนหลักสูตรทำนองนี้ในมหาวิทยาลัย

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1102140


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210