Forward บริษัทด้านการดูแลสุขภาพ เพิ่งเปิดตัวห้องตรวจแพทย์ที่อาศัยขุมพลังปัญญาประดิษฐ์ผสานกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแห่งแรกของโลกในชื่อ “CarePod” เพื่อวินิจฉัยและตรวจอาการผิดปกติต่างๆ พร้อมมอบแผนสุขภาพเฉพาะบุคคล และประสบการณ์ส่วนตัวระดับพรีเมียม ช่วยให้ผู้เข้ารับบริการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น เพื่อปลดล็อกอนาคตของการดูแลสุขภาพให้เกิดขึ้นอย่างง่ายดายทุกหัวมุมถนน
CarePod สร้างขึ้นโดยทีมแพทย์ระดับโลกของ Forward ที่มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น Harvard, Johns Hopkins, และ Columbia เพื่อให้บริการด้านสุขภาพครบวงจร รวมถึงการวินิจฉัย แผนสุขภาพเฉพาะบุคคล และการให้คำปรึกษาแบบพบหน้า ศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมเหล่านี้ ผสมผสานเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเข้ากับความเชี่ยวชาญทางการแพทย์แบบดั้งเดิม โดยมีเป้าหมายที่จะปฏิวัติการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย
ทันทีที่ผู้ป่วยเข้ามาภายในบูธ CarePod ของ Forward ที่ได้รับการออกแบบและตกแต่งอย่างทันสมัย พวกเขาจะสามารถเข้าถึงแอปฯ เกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ มากมายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแอปฯ เหล่านี้ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพในปัจจุบันและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยสามารถเลือกบริการต่างๆ จากแอปฯ เช่น การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรม การตรวจหาโรคต่างๆ เช่น การคัดกรองเบาหวาน การสแกนร่างกายแบบไบโอเมตริก และการตรวจเลือด เป็นต้น
ปัจจุบัน CarePod ถูกนำไปติดตั้งเพื่องานในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า ยิม และอาคารสำนักงาน โดยมีกำหนดการเพิ่มพื้นที่ให้บริการมากกว่าสองเท่าในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกา เช่น ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก ชิคาโก และฟิลาเดลเฟีย
หัวใจสำคัญของนวัตกรรมนี้คือโมเดล AI ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท Forward ซึ่งเปลี่ยนความเชี่ยวชาญทางคลินิกและการวิจัยทางการแพทย์ล่าสุดให้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยที่ใช้งานได้จริง รวมถึงแผนการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุม
AI เทคโนโลยีที่กำลังขยายตัวอย่างรุดหน้านี้เป็นผู้ขับเคลื่อนแอปฯ สุขภาพดังกล่าว ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และแม้แต่ภาวะซึมเศร้า ขณะที่ในอนาคตบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายขีดความสามารถของโมเดล AI นี้ให้ครอบคลุมในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น การดูแลก่อนคลอด และการตรวจคัดกรองมะเร็งขั้นสูง เป็นต้น โดยผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพทั้งหมดได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงในแอปฯ Forward บนมือถือ
สำหรับข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ป่วยระหว่างการเข้ารับการตรวจ CarePod จะถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มอย่างปลอดภัย เพื่อการติดตามสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และช่วยให้สามารถระบุความเสี่ยงของโรคได้
สิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือ แพทย์ที่ลงทะเบียนให้บริการนั้นต่างจากแอปฯ แชทที่ใช้ AI ตรงที่แพทย์
ของ CarePod ทำการตัดสินใจด้านการดูแลรักษาทั้งหมด โดยรับประกันการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์ เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้รับการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผู้ใช้งานต้องเสียค่าสมาชิกเริ่มต้นที่ 99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
ล่าสุด Forward ประกาศเงินทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปูทางสู่การเติบโตของบริษัท ซึ่งจะใช้ในการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพของ CarePod นอกเหนือจากกองทุนร่วมลงทุนบลูชิพ (หุ้นสามัญของบริษัทที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เป็นบริษัทที่สามารถทำผลกำไรให้เติบโต และจ่ายปันผลได้ต่อเนื่องมายาวนาน อีกทั้งได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพของผู้บริหาร สินค้า และการให้บริการ) อย่าง Khosla Ventures , Founders Fund , Samsung Next , Abu Dhabi Investment Authority และ Softbank แล้ว Forward ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ทรงคุณวุฒิด้าน AI เช่น Eric Schmidt (อดีตซีอีโอและประธานของ Google), John Giannandrea (รองประธานอาวุโสฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ของ Apple), Demis Hassabi (ผู้ร่วมก่อตั้ง DeepMind) และ Mustafa Suleyman (ผู้ร่วมก่อตั้ง DeepMind และ Inflection AI) นอกจากนี้ ยังได้รับคำแนะนำจากบรรดาแพทย์ชั้นนำอีกด้วย
“สถานการณ์ด้านการรักษาพยาบาลทั่วโลกเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม โดยมีประชากรไม่ถึง 1 ใน 4 ของโลกที่สามารถเข้าถึงการดูแลที่เพียงพอ ถึงเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง Forward ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในการดูแลสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายขนาดการดูแลให้กับผู้คนทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา Forward ได้สร้างระบบการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงแบบบูรณาการในแนวตั้ง โดยมีสถานที่ตั้ง 19 แห่งทั่วประเทศ และทีมแพทย์ระดับปฐมภูมิมากกว่า 100 คน และขณะนี้ CarePod ช่วยให้ Forward ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในการจัดการกับความท้าทายพื้นฐานสามประการของการดูแลสุขภาพ ได้แก่ต้นทุน การเข้าถึง และคุณภาพ”
ในอนาคต หากมีการใช้งาน CarePod มากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์ดังกล่าวจะไม่ถูกจำกัดตามพื้นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป
ทั้งนี้ จากรายงานของ Markets and Markets ระบุว่าในแง่ของรายได้ของตลาดการวินิจฉัยทางการแพทย์ด้วย AI ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 และคาดว่าจะสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2571 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) 23.2% ตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2571
ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ ความต้องการโซลูซันที่ใช้ AI เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความกดดันในการทำงานของนักรังสีวิทยา โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความต้องการโซลูชันที่ใช้ AI เพิ่มขึ้นอย่างมากในอุตสาหกรรมการวินิจฉัยทางการแพทย์ เนื่องจากโซลูชันเหล่านี้มีศักยภาพมหาศาลในการวินิจฉัยภาพทางการแพทย์ ข้อดีบางประการ ได้แก่ การวิเคราะห์ภาพการวินิจฉัยที่รวดเร็วขึ้น การตีความข้อมูลที่เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งนักรังสีวิทยามักผิดพลาด และปรับปรุงการคัดกรองด้วยภาพและการสนับสนุน
การตัดสินใจทางคลินิก ทำให้นักรังสีวิทยาใช้โซลูชันเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนโฟกัสจากการตีความภาพเป็นการให้การดูแลที่ดีขึ้น
จากการศึกษาของสมาคมวิทยาลัยการแพทย์อเมริกัน การขาดแคลนนักรังสีวิทยาอาจเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 42,000 คนภาย ในปี 2576 สหรัฐอเมริกามีนักรังสีวิทยาเพียง 100 คนต่อประชากรล้านคน เมื่อพิจารณาในประเด็นนี้แล้ว จะเห็นว่านักรังสีวิทยาต้องเผชิญกับความกดดันและภาระงานมหาศาลในการตีความข้อมูลการวินิจฉัยอย่างไม่จำกัด ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยและทั่วโลกก็แทบจะไม่ต่างกัน
แหล่งข้อมูล