ไทยส่งออกมันสำปะหลังและอ้อยในรูปของวัตถุดิบ หรือการแปรสภาพสินค้าเกษตรเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอยู่ในระดับที่ต่ำ หากเรานำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพก็จะช่วยผลักดันให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรเหล่านี้สูงขึ้น เช่น การใช้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งจากมันสำปะหลังที่สัดส่วนราว 2:1 มาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ จะส่งผลให้น้ำตาลจากอ้อยและแป้งมันสำปะหลังดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 เท่า
ขณะเดียวกัน หากมีการลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย ก็จะส่งผลให้ไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศลง จากอัตราการนำเข้าที่ขยายตัวประมาณ 42% ต่อปี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจแปรรูปเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ อีกทอดหนึ่ง
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยบีโอไอให้การส่งเสริมไปแล้วกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากวัตถุดิบทางการเกษตร ขึ้นแท่นฐานผลิตพลาสติกชีวภาพของโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพระดับโลกแล้ว
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ว่า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ภายใต้แนวคิด BCG ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนโดยดึงศักยภาพของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักที่มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอที่สามารถป้อนให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้ โดยเฉพาะอ้อยและมันสำปะหลัง ประกอบกับความพร้อมด้านบุคลากรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลก
ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นที่ต้องการในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และยานยนต์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งยังสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ระดับโลกหลายรายแล้ว อาทิ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด และบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ จำกัด ผู้ผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ชนิดโพลีแลคติด แอซิค (Polylactic Acid: PLA) บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate) บริษัท ดูปองท์ นิวทริชั่น จำกัด ผู้ผลิตไมโครคริสตัลไลน์เซลลูโลสสำหรับผลิตฟิล์มเคลือบอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ และบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET (Food Grade) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท Alpla ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของยุโรป และล่าสุด บริษัท ไทยโพลิเอทิลีน จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ร่วมทุนกับ Braskem ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก จัดตั้งโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีน สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกไบโอ-พอลิเอทิลีน (Green-Polyethylene) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพ จำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท และจากนี้ไปบีโอไอจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งด้านซัพพลายเชนของพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งเชื่อมต่อกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อสร้างมูลค่าต่อยอดวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงจะเดินหน้าเชิญชวนบริษัทรายใหญ่ระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมากขึ้น โดยจะใช้จุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งวัตถุดิบและบุคลากรที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ และตอบโจทย์ทิศทางเมกะเทรนด์ของโลกด้วย” เลขาฯบีโอไอ กล่าว
ด้าน EIC มองว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในธุรกิจนี้แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ในธุรกิจพลาสติกชีวภาพของอาเซียนในระยะต่อไป ศักยภาพดังกล่าวมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่
1) ความได้เปรียบด้านวัตถุดิบทางการเกษตร ไทยสามารถผลิตอ้อยและมันสำปะหลังได้เกินความต้องการบริโภคในประเทศ หรือคิดเป็นการบริโภคในประเทศเพียง 25-30% ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 และส่งออกน้ำตาลจากอ้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก
2) ความพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรม ไทยมีอุตสาหกรรมพลาสติกที่ครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำอย่างสินค้าเกษตร การแปรรูปเม็ดพลาสติก ไปจนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ที่รองรับการผลิตในประเทศ
3) ความสามารถด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคล ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีศักยภาพสามารถรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการสร้างเทคโนโลยีใหม่ของตนเองได้ โดยปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการแปรรูปในอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพกว่า 3,000 ราย
อ้อย และ มันสำปะหลัง จึงกลายเป็นสินค้าเกษตรที่มีอนาคตน่าจับตามองอย่างยิ่ง
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2023/08/17/sugar-cane-and-cassava-for-bioplastics/