หลายเมืองทั่วโลกกำลังเร่งเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่เป็นความหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามนิยามของ The International Telecommunication Union (ITU) คือ เมืองที่ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนและสร้างบริการชุมชนที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
โดยความหมายของเมืองอัจฉริยะนั้น ไม่ได้หมายความถึงเมืองที่มีความทันสมัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย เช่น ระบบการจราจรที่จัดการสัญญาณไฟจราจรได้อย่างอัตโนมัติเพื่อลดปัญหารถติด ระบบสาธารณูปโภคที่มีการจัดการและตรวจสอบการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือระบบสุขภาพที่ติดตามและให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพของผู้คนได้อย่างดี ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้เมืองสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
นอกจากนั้น คำว่า “อัจฉริยะ” ในที่นี้ยังหมายถึงการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) การวิเคราะห์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ เข้ากับนวัตกรรมเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ไม่ได้มีดีแค่ความทันสมัยเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ รวมถึงการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือในชุมชน
เรียนรู้จาก 3 โมเดล 3 เมืองอัจฉริยะ ระดับโลก
ในความเป็นจริง หัวใจสำคัญของ เมืองอัจฉริยะ คือ “การมุ่งสร้างความยั่งยืน” โดยที่ยังสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างสมดุลไปพร้อมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ ดังเช่น เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2025 จะไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ
เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
เมืองอัมสเตอร์ดัมเริ่มโครงการเมืองอัจฉริยะตั้งแต่ปี 2009 โดยมีเป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหารถติด การประหยัดพลังงาน และการยกระดับด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในเมือง
โดยจัดโครงการ ‘City-zen’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อัมสเตอร์ดัมกลายเป็นเมืองที่ใช้พลังงานสะอาด และมีพลังงานที่เพียงพอสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน มีระบบการจัดการขยะที่ไม่สร้างมลพิษ และสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ในทุกๆ กิจกรรม เช่น การชาร์จรถไฟฟ้า การใช้ไฟส่องสว่างและป้ายไฟสาธารณะที่มีแหล่งมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
เมืองซินเจียง ประเทศจีน
เมืองซินเจียงถือเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วเมือง หรือการติดตั้งระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินที่บ้าน รวมถึงการมีระบบรายงานจำนวนผู้ว่างงานในเมืองในรูปแบบ Real-Time ซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ประเทศสิงคโปร์
ในประเทศสิงคโปร์มีการระดมแผนการสร้าง ‘Smart Nation’ โดยมุ่งมั่นพัฒนาด้านสาธารณสุข การดูแลสุขภาพ และการขนส่ง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอีก 15 ปีข้างหน้า นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านสุขภาพ การขนส่ง และการแพทย์ เช่น การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ และการใช้เทคโนโลยี Telehealth ที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและคำปรึกษาในการดูแลสุขภาพแม้จะไม่ได้เดินทางมาโรงพยาบาล
อัปเดตการพัฒนา 5 ว่าที่ เมืองต้นแบบ “Smart City” ของไทย
ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้หลายๆ แห่งเป็นเมืองอัจฉริยะเช่นเดียวกับหลายที่ทั่วโลก โดยไทยมี 5 เมืองต้นแบบที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็น “Smart City”
ระยอง วังจันทร์วัลเลย์ เมืองหลวงแห่งนวัตกรรม
มีการตั้งเป้าหมายให้วังจันทร์วัลเลย์เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในแผนการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยโครงการนี้มุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 จนได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองอัจฉริยะของไทย ด้วยการพัฒนาให้เป็น Smart City ครบทั้ง 7 ด้านหลัก คือ Smart Environment, Smart Energy, Smart Economy, Smart Governance, Smart Mobility, Smart People และ Smart Living
ภูเก็ต IT City จุดเริ่มต้นของ Smart City
สำหรับภูเก็ต เป้าหมายอยู่ที่การสร้างความยั่งยืน ด้วยการสร้างจุดแข็งใหม่ให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันมีการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองใน 4 ด้าน คือ การท่องเที่ยว ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ที่มีการนำ IoT (Internet of Things) เข้ามาใช้และสนับสนุนการทำงานของคนในเมืองซึ่งจะช่วยยกระดับการเป็น Smart City
เชียงใหม่ เมืองเกษตรอัจฉริยะ
เป้าหมายในการเป็น Smart City ของเชียงใหม่ก็เพื่อสนับสนุนการทำเกษตร การลดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่จะช่วยพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ สู่การเป็น Smart Economy, Smart Tourism และ Smart Agriculture แต่ยังคงไม่ทิ้งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในรูปแบบล้านนา
ขอนแก่น ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง
มีการพัฒนา Smart Bus ในเมืองขอนแก่นให้ประชาชนได้ใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้โดยสารที่ต้องการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และยังมีการผลักดันให้ขอนแก่นเป็น MICE CITY แห่งภาคอีสานอีกด้วย
นครสวรรค์ ต้นแบบนวัตกรรมพลังงานสะอาด
นอกจากการเป็นต้นแบบด้านพลังงานสะอาด นครสวรรค์ยังมุ่งสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การบริหารจัดการพลังงาน ตลอดจนการนำยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ มาใช้ในการเดินทางและการขนส่งเชิงพาณิชย์
เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการลงทุนใน เมืองอัจฉริยะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้ขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” ในประเทศไทยด้วย นโยบายส่งเสริมการลงทุนในกิจการเมืองอัจฉริยะ ซึ่งประกอบด้วย 2 ประเภทกิจการย่อย ได้แก่ กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ และกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ
โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนในกิจการเมืองอัจฉริยะจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 8 ปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการยกเว้นอากรต่างๆ และสิทธิประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ภาษีร่วมด้วย (กลุ่มกิจการ A2)
เพราะเมืองอัจฉริยะไม่ได้เป็นเพียงเมืองที่เชื่อมต่อหรือเมืองที่เต็มไปด้วยระบบดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้คนในเมืองที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต รวมไปถึงการเป็นเมืองที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในสังคม ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2023/07/01/from-world-smart-city-model-to-thailand/