AgriTech แห่งอนาคต เมื่อ “ฟาร์มอัตโนมัติ” ไม่ง้อคน มาแรง

Loading

Autonomous Farming หรือการทำฟาร์มที่ใช้ระบบอัตโนมัติในการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่เพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยอาศัยหรือพึ่งพาแรงงานคนน้อยที่สุด หรือกระทั่งไร้แรงงานคน กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้จะปฏิวัติและพลิกโฉมการทำเกษตรกรรมอย่างไรบ้าง

ระบบอัตโนมัติสามารถช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเซ็นเซอร์ ทำให้ระบบอัตโนมัติมีความเป็นไปได้มากขึ้นและราคาไม่แพง จึงคาดว่ามูลค่าตลาดระบบอัตโนมัติในฟาร์มทั่วโลกจะเติบโตอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการเกษตรได้รับแรงกดดัน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับปัจจัยการผลิตและแรงงานทำให้ความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกรตกอยู่ในความเสี่ยง เกษตรกรทั่วโลกรายงานว่าราคาของปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีราคาแพงขึ้น 80-250% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังบีบผลกำไรให้เหลือน้อยลงหรือไม่ก็ขาดทุนสะบั้นหั่นแหลก สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของปัจจัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น พืชผลและแมลงศัตรูพืชชนิดใหม่รุกราน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเติบโตของพืชเศรษฐกิจ ทำให้ผลผลิตลดลง ตัวอย่างเช่น ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา ภัยแล้งขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นรุนแรงมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จนทำให้ภูมิภาคนี้แห้งแล้งที่สุดในรอบ 1,200 ปี!

เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เป็นภัยคุกคามเหล่านี้และคงไว้ซึ่งความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ เกษตรกรต้องค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรม และคำตอบที่ใช่คือ “ระบบอัตโนมัติ” ที่มีขอบเขตให้เลือกสรรตามความต้องการและงบประมาณในกระเป๋าของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติที่ต้องการการสนับสนุนจากผู้ปฏิบัติงานในระดับต่างๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น ระบบช่วยบังคับเลี้ยว ไปจนถึงระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เช่น หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช

เทคโนโลยีการเกษตรแห่งอนาคตใช้การผสมผสานระหว่างเซ็นเซอร์ การวิเคราะห์ หุ่นยนต์ และอุปกรณ์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดบนภาคสนาม และทำงานได้มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง นอกจากนี้ การพัฒนาล่าสุดใน Generative AI ยังนำเสนอโอกาสในอนาคต สำหรับการตัดสินใจอัตโนมัติโดยใช้ชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่แล้ว

ตัวอย่างที่น่าสนใจและเป็นไปได้ในกรณีนี้ ได้แก่ การช่วยเกษตรกรพัฒนาแผนเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย การปกป้องพืชผล และเมล็ดพืช) ที่จะใช้ เวลาใด และอัตราเท่าใด เพื่อสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของฟาร์มและเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนที่ดีที่สุด

เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมีพลังล้นเหลือ เช่น ระบบอัตโนมัติที่สมบูรณ์แบบ 100% ในสวนผลไม้และไร่องุ่นสามารถส่งมอบมูลค่ามากกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเอเคอร์ต่อปี (ราว 14,000 บาทต่อ 2.53 ไร่ต่อปี) ซึ่งเพิ่มผลตอบแทนเป็นสองเท่าจากการลงทุนในระบบอัตโนมัติของเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูลเชิงลึกของเกษตรกรทั่วโลกประจำปี 2565 ของ McKinsey เผยให้เห็นว่ามีเกษตรกรน้อยกว่า 5% ทั่วเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ กำลังใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ เทียบกับ 21% ที่ใช้ซอฟต์แวร์การจัดการฟาร์ม ดังนั้นจึงนับว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสและช่องว่างอีกมากสำหรับผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ โดยต้องชี้ให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของโซลูชั่นนี้ในการแก้ปัญหาที่รุมเร้าเกษตรกรมาเนิ่นนาน

นั่นคือระบบอัตโนมัติในฟาร์มสามารถช่วยแก้ปัญหาสองประการที่รบกวนเกษตรกรมาเป็นระยะเวลานานหลายปีนั่นคือ ต้นทุนสารเคมีที่สูงขึ้นและความท้าทายด้านแรงงาน ทั้งในแง่ของค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน

ยิ่งมีการการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งผลักดันราคาปุ๋ยที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย (เช่น ยูเรีย ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต และโพแทช) ให้แพงขึ้นมากกว่า 15% ต่อปีในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยในการสำรวจของ McKinsey เมื่อปีที่แล้ว เกษตรกรสหรัฐอเมริกาจัดอันดับต้นทุนปัจจัยการผลิตเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งต่อความสามารถในการทำกำไร จากการที่ราคาปุ๋ยและสารเคมีป้องกันผลผลิตจากศัตรูพืชพุ่งสูงขึ้นมากที่สุด

ระบบอัตโนมัติสามารถช่วยลดต้นทุนเหล่านี้ได้ด้วยการทำให้เกษตรกรสามารถใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การฉีดพ่นอัตโนมัติที่มีความแม่นยำโดยเซ็นเซอร์และข้อมูลภาคสนาม (ทั้งที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลและแบบเรียลไทม์) สามารถตรวจจับช่องว่างระหว่างพืชผลและปรับปริมาณ รวมถึงระยะเวลาของสารเคมีที่ฉีดพ่น โดยใช้สารเคมีน้อยลง

ขณะที่เทคโนโลยีการใช้สารกำจัดวัชพืชบางอย่างใช้การมองเห็นของคอมพิวเตอร์เพื่อเลือกฉีดพ่นวัชพืชและหลีกเลี่ยงพืชผล เช่น ในฟาร์มข้าวโพดขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ โซลูชันเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดต้นทุนยากำจัดวัชพืชได้ถึง 80% สร้างมูลค่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเอเคอร์ (ราว 1,050 บาทต่อ 2.53 ไร่) และระยะเวลาคืนทุน 2 ปี ในทำนองเดียวกัน หุ่นยนต์ใส่ปุ๋ยที่เปิดใช้งานด้วยเซ็นเซอร์สามารถควบคุมปริมาณปุ๋ยที่ใส่ลงบนเมล็ดพันธุ์แต่ละเมล็ดโดยตรงในระหว่างกระบวนการเพาะปลูก จึงช่วยประหยัดปุ๋ยในฟาร์มข้าวโพดในสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียวได้มากกว่า 93 ล้านแกลลอนต่อปี

ด้านแรงงานก็เป็นอีกปัญหาเรื้อรังของเกษตรกรที่ยากจะรับมือ คนงานในฟาร์มมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับบาดเจ็บและมีอัตราการบาดเจ็บจากการทำงานถึงแก่ชีวิตสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา การสัมผัสกับสารเคมีและแสงแดดเป็นเวลานานยังทำให้ผู้คนตระหนักดีว่างานในไร่เป็นงานที่ยากและอันตราย

ขณะที่ในสหราชอาณาจักร ผักและผลไม้มากกว่า 22 ล้านปอนด์ (ราว 9.98 ล้านกิโลกรัม) ถูกทิ้งในปี 2565 เนื่องจากการขาดแคลนคนงานที่จะเก็บพืชผล การขาดแคลนแรงงานดังกล่าวและความต้องการแรงงานที่จะได้รับการชดเชยสำหรับสภาพการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความปลอดภัยได้เร่งให้ค่าจ้างคนงานในฟาร์มเพิ่มขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 4% ต่อปีระหว่างปี 2558 ถึงมกราคม 2565 เทียบกับน้อยกว่า 1% ต่อปีระหว่างปี 2543 ถึง 2557

ด้วยเหตุนี้ระบบอัตโนมัติจึงสามารถช่วยบรรเทาความท้าทายเหล่านี้ที่เป็นปัญหาหนักอกของเกษตรกรได้หลายวิธี โดยสามารถปรับปรุงสภาพการทำงานในฟาร์ม ลดทักษะการปฏิบัติงาน และลดต้นทุนแรงงานของฟาร์ม

ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ด้วย เช่น ในสถานการณ์ที่ระบบอัตโนมัติช่วยให้คนงานหนึ่งคนในฟาร์มข้าวโพดในสหรัฐอเมริกา สามารถจัดการและควบคุมเครื่องจักร 4 เครื่องได้ การประหยัดต้นทุนจะอยู่ที่ 15-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเอเคอร์ (ราว 525-700 บาทต่อ 2.53 ไร่) ซึ่งสามารถประหยัดต้นทุนได้มากถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (ราว 52,453 ล้านบาทต่อปี) นอกจากนี้ ระบบอัตโนมัติยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชในขณะที่ยังคงรักษาผลผลิตไว้ได้ เนื่องจากความสามารถในการกำจัดวัชพืชเชิงกลทำได้บ่อยครั้งและประหยัดค่าจ้างแรงงาน (ประหยัดได้ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเอเคอร์ หรือราว 3,500 บาทต่อ 2.53 ไร่)

นอกจากนี้ คุณประโยชน์อื่นๆ ของระบบอัตโนมัติเพื่อการเกษตรกรรมก็คือ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร เพราะการผลิตทางการเกษตรต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 70% เพื่อรองรับประชากรโลกที่คาดการณ์ไว้ 9.7 พันล้านคนภายในปี 2593 ด้วยความแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงของระบบอัตโนมัติจะช่วยทำให้สามารถผลิตอาหารเพื่อรองรับประชากรโลกจำนวนมหาศาลได้ รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเทคโนโลยีของระบบอัตโนมัติช่วยให้เกษตรกรลดของเสีย ตลอดจนลดการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด หากเกษตรกรตระหนักรู้และเห็นผลเชิงประจักษ์ว่าการใช้ระบบอัตโนมัติในฟาร์มช่วยให้มีผลผลิตและกำไรที่มากขึ้น มีความปลอดภัยในฟาร์มที่ดีขึ้น และช่วยให้เดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง ก็จะเป็นโอกาสทองของ AgriTech รักษ์โลกอย่าง Autonomous Farm อย่างแท้จริง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/07/05/agritech-autonomous-farming-rising/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210