Wellness Society ตอบโจทย์ “สังคมสูงวัย”

Loading

ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมาก และประชากรก็มีอัตรารู้หนังสือที่สูง รวมถึงวุฒิการศึกษาก็มีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้น หน้าที่การงานดีขึ้น มีการวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างเป็นระบบ ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นตลาดที่มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมา จากจำนวนประชากรกลุ่มผู้สูงวัย และสภาวะทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุก็ดีขึ้นมาก

ในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาจะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จะมีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก ทั้งนี้เป็นผลจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราเจริญพันธุ์และอัตราตายของประชากรในอดีต และการเพิ่มขึ้นของอายุคาดหมายเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (ความยืนยาวของชีวิต) ของประชากรไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ข้อมูลทางด้านประชากรศาสตร์ของ U.S. Census Bureau, International Data Base กล่าวไว้ว่า ปี ค.ศ.2025-2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรในแถบตะวันออกเฉียงใต้ จะมีอัตราการเกิดที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือคงที่ นั่นหมายความว่า เด็กเกิดน้อยลง ขณะเดียวกันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Longer Old Age ส่งผลโครงสร้างพีระมิดประชากรของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามประเทศตะวันตกแล้ว จากฐานกว้างยอดแคบ กลายเป็นฐานเริ่มแคบและป่องตรงกลาง

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ Segment อายุของประชากรเปลี่ยนแปลงไป คนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นเป็น 90 ถึง 100 ปี จากเดิมมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี ช่วงอายุของวัยรุ่นขยายเพิ่มขึ้นจากเดิมอายุ 10-20 ปี เปลี่ยนมาอยู่ในช่วง 10-25 ปี ช่วงอายุของผู้ใหญ่ขยายเพิ่มขึ้นจากเดิมอายุ 20-30 ปี เปลี่ยนไปอยู่ในช่วง 25-35 ปี การมีครอบครัวชะลอตัวลงจากเดิมอายุ 30-40 ปี แต่งงานมีครอบครัว เปลี่ยนเป็นช่วง 35-50 ปี ทำให้กลุ่มที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อเปลี่ยนจากกลุ่มอายุ 20-30 ปี ซึ่งเป็นวัยเริ่มทำงานกลายเป็นกลุ่มอายุ 30-50 ปี

การเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” สอดรับกับการเกิดขึ้นของ “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร” (Medical Hub Industry) หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ต่อจาก First S-Curve หรือ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ

ทุกวันนี้ วิทยาการด้านการแพทย์ของโลกเจริญรุดหน้ามาก โดยไทยเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีฝีมือ มีชื่อเสียงติดอันดับโลกจำนวนมาก อีกทั้งโรงพยาบาลของไทยก็เป็นเป้าหมายของชาวต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐเล็งเห็นศักยภาพจึงกำหนดให้มีนโยบายอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรขึ้น

ในปัจจุบัน วงการแพทย์ระดับสากล ก้าวข้ามศาสตร์แห่งการรักษาสุขภาพ (Sickness Treatment) มาสู่ศาสตร์แห่งการป้องกันโรค (Wellness Being)

การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร นำไปสู่การเป็น Medical Hub ของไทยในยุค Thailand 4.0 เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ S-Curve จึงเน้นไปที่การเป็น Wellness Hub เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกลไกการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกื้อหนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมด

การผลักดันให้ไทยก้าวสู่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub Industry) จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิด Wellness Society หรือการแพทย์ยุคใหม่ ในศาสตร์แห่งการป้องกันโรคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ผสานกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างของ Wellness Society อาทิ Long Stay, Long Term Care, Nursing Home, Spa, Wellness Tourism, Aging and Intermediate Care

โดยการเป็น Academic Hub ได้แก่ การพัฒนา Training Center หลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ (Global Doctor) International Course Training – Under and Post Graduate แพทย์ พยาบาล Family Medicine และInternet Course of Occupational Medicine (ICOM)

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกันกล่าวคือ

1. การให้บริการทางการแพทย์ยุคใหม่ (e-Health and m-Health)

โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเชื่อมต่อข้อมูล โดยเฉพาะระบบเวชระเบียนอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Medical Records: EMRs) เพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์และให้บริการรักษาทางไกลกับผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อเป็นทางเลือกแทนการเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือค่าธรรมในการรักษาที่สูงหรือเพื่อให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

2. การวิจัย และการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล (Remote Health Monitoring Devices)

รากฐานมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับ หรือ Sensors และอุปกรณ์การวัดสมัยใหม่ที่ทันสมัยขึ้น โดยอุปกรณ์วินิจฉัยและติดตามผลระยะไกลสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง เช่น วัดความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

3. การวิจัยยา และเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะการผลิตยาที่ทันสมัย (Research and Development)

เพื่อลดกระบวนการและลดระยะเวลาการทดลองยาสมัยใหม่ โดยจะมุ่งเน้นที่การผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilar) ซึ่งคือยาสามัญของยาชีววัตถุต้นแบบ (Biologic) ที่มีการวิจัยและจดสิทธิบัตรแต่สิทธิบัตรหมดอายุลงแล้ว ซึ่งปัจจุบันยาชีววัตถุมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่กว่ายาสามัญทั่วไป

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/05/07/wellness-society-for-aging/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210