ตัดไม้ แต่ ได้ป่า

Loading

สวีเดน ประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกและยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม เผยแพร่นวัตกรรมจัดการป่า สร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายการอนุรักษ์ธรรมชาติและเศรษฐกิจ เช่น การพลิกฟื้นป่าที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศที่เหลือเพียง 25% เพิ่มเป็น 75% ได้สำเร็จ

รวมถึงการปลูกป่าไม้เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโต เช่น ไม้แปรรูปสำหรับภาคก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม้แปรรูปสำหรับเฟอร์นิเจอร์ มุ่งหวังให้ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นำโมเดลนี้ไปศึกษา เพื่อต่อยอดสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566”

ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่รกร้างประมาณ 1,577,441 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.38 ของการใช้ที่ดินทางการเกษตรทั่วประเทศ ปัญหาที่ดินทิ้งร้างที่ไม่ได้รับการพัฒนา ที่ดินในที่ไม่เป็นระเบียบในผังเมือง ที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้า-ออก หรือแปลงที่ดินเศษเสี้ยวและไม่ได้ขนาดสำหรับการใช้ประโยชน์ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาชุมชนอย่างอิสระ ไม่มีการควบคุมอย่างจริงจัง ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดจากพื้นที่ทิ้งร้างนับว่าอยู่ในความสนใจเป็นอย่างมากต่อภาคสาธารณชน เพราะสภาพพื้นที่เหล่านี้ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจก่อใหเกิดความสูญเสียโอกาสทั้งในด้านเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสังคม จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 พบว่ามูลค่าความเสียหายของที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ประเมินเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 127,000 ล้านบาทต่อปี

โดยระหว่างวันที่ 17-22 มีนาคม 2566 ได้มีการจัด “สัปดาห์แห่งความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566” เพื่อผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของไทยกับสวีเดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ไทยพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านป่าไม้และเมืองยั่งยืน สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ด้วยโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลก

อรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า “ภารกิจสำคัญของสถานเอกอัครราชทูตฯ คือการสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่ความยั่งยืน โดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาแนวคิดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ประเทศไทย ซึ่งการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของสวีเดนที่นำมาเผยแพร่ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างป่าไม้ ชุมชน และเศรษฐกิจ ให้เติบโตไปพร้อมกัน เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างป่ากับคน สอดคล้องกับพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง “ปลูกต้นไม้ในใจคน” ที่ต้องทำให้คนเข้าใจว่าเราปลูกต้นไม้ทำไม ประโยชน์คืออะไร ถ้าเราสามารถสร้างระบบอุตสาหกรรมและธุรกิจป่าไม้ที่ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากป่า เห็นคุณค่าจากป่า ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันบริหารจัดการป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องแนวคิดการบริหารจัดการป่า จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง”

ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เคยเหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75% คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่ได้ป่า ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น นอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รัฐบาลสวีเดนหวังว่าโมเดลและประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปัน จะเกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เพื่อขยายแนวคิดแห่งความยั่งยืนนี้ต่อไป”

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีเห็นประโยชน์จากโมเดลจัดการป่ายั่งยืนของสวีเดน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ลองศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งเอสซีจีให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในการทำเหมืองปูนซีเมนต์ เพื่อให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ ขยายพื้นที่ป่าบก ป่าโกงกางและหญ้าทะเล รวมถึงการจัดการน้ำเพื่อบำรุงรักษาให้ป่าอุดมสมบูรณ์ในโครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ โดยได้เพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้ว 1.2 ล้านต้น และสร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย ช่วยชุมชนกว่า 306 ชุมชน 57,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ใช้อุปโภค-บริโภคและการเกษตร ส่งต่อการจ้างงานกว่า 2,550 คน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 5 เท่า โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 3 ล้านไร่ 150,000 ฝาย เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามแนวทาง ESG 4 Plus“

นอกจากนี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการปลูก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 3,800 ล้านบาทต่อปี

เอสซีจีจึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมกันศึกษา ต่อยอด และออกแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของประเทศไทยในรูปแบบใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำประโยชน์จากป่าไม้ไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและภูมิภาค ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

หากประเทศไทย นำพื้นที่เสื่อมโทรมและรกร้างที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาปลูกป่า นอกจากจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลแล้ว ยังเป็นการช่วยลดคาร์บอน และขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/03/20/thai-sweden-sustainability-2023/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210