กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อขายสินค้า

Loading

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันสังคมไทยมีการใช้ สื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่จำกัดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ต่อยอด ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

เมื่อพิจารณาในแง่ของการควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีรูปแบบในการควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ

หนึ่งในประเด็นสำหรับการเข้าควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ ให้มีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเกินจำเป็น คือ การเข้าควบคุมการขายของออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

เมื่อพิจารณากฎหมายในการควบคุมการขายของออนไลน์ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีบทบัญญัติกฎหมายที่เข้าควบคุมการขายของออนไลน์ ด้วยการแพร่ภาพผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับในอีกหลายประเทศ ทำให้รูปแบบในการขายของออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลในบางครั้ง มีการใช้พฤติกรรมที่มีลักษณะส่อไปทางอนาจาร หรือมีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่เหมาะสม อาจเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องต่อผู้บริโภคและนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ

หากไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการแพร่ภาพดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศไทยในระยะยาว ในขณะที่ในหลายประเทศได้ออกกฎหมาย เพื่อควบคุมกิจกรรมบางอย่างบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่อาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการก่อการร้าย หรือมีลักษณะเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ตัวอย่างกฎหมายของต่างประเทศที่น่าสนใจ ในการควบคุมกิจกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะนี้ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน

ในประเทศเยอรมนีมีพระราชบัญญัติตรวจสอบเครือข่ายสังคมออนไลน์ (NetzDG) ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ต้องตรวจสอบเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมและติดตามลบเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับการก่อการร้าย การละเมิดสิทธิของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการลามกอนาจาร และจะต้องรายงานไปยังสำนักงานยุติธรรมแห่งเยอรมัน

ในส่วนของประเทศฝรั่งเศสนั้นมีพระราชบัญญัติควบคุมระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (LCEN) กำหนดให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์จะต้องมีมาตรการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้และตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่ถูกนำเข้าแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่เป็นการละเมิดกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสไม่เช่นนั้นอาจถูกปรับถึงร้อยละ 4 ของรายได้ประจำปีทั่วโลก

ส่วนในทวีปเอเชียประเทศที่มีการออกกฎหมายควบคุมสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้มงวดคือประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกคือ TikTok ที่มีการนำไปใช้ในการค้าขายออนไลน์อย่างกว้างขวาง

จึงนำไปสู่การใช้กฎหมายความมั่นคงของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่อยู่ในประเทศจีนจะต้องดำเนินการเก็บข้อมูลและรายงานต่อทางราชการของจีน

นอกจากนี้หากบริษัทพบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม จะต้องรีบดำเนินการลบข้อมูลโดยเร็วที่สุด รวมไปถึงกรณีของผู้ที่จะขายของออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จะต้องได้รับใบอนุญาตจากทางราชการจีนก่อน จึงจะสามารถขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้ เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจากการออกกฎหมายดังกล่าว ในแต่ละประเทศทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับเนื้อหาและกิจกรรมออนไลน์เป็นไปในทางที่ดีมากขึ้น และลดปัญหาการนำเข้าข้อมูลที่ไม่เหมาะสม โดยการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านระบบออนไลน์ลงได้ แม้จะไม่ได้ทำให้แก้ปัญหาได้โดยสิ้นเชิงแต่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นบรรเทาเบาบางลงได้พอสมควร

จากสภาพปัญหาดังกล่าว เมื่อพิจารณาการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นไปในทิศทางที่ขาดการควบคุม พบการใช้คำหยาบหรือการแสดงลักษณะท่าทางหรือการแต่งกายหรือการพูดชักจูงให้ซื้อขายสินค้าที่มีความสุ่มเสี่ยงว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และในบางกรณีได้นำสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นช่องทางในการโฆษณาการพนันออนไลน์ และการกระทำความผิดอื่น ๆ โดยปราศจากการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยควรมีการออกกฎหมายที่ควบคุมการถ่ายทอดสด หรือการนำเข้าวีดีโอเข้าสู่ระบบสื่อสังคมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ โดยการให้บุคคลใดที่มีความประสงค์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าในช่องทางใดเพื่อการค้าจะต้องขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกาศหรือเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลผ่านระบบออนไลน์

แต่อย่างไรก็ตาม การให้ขอออกใบอนุญาตในลักษณะดังกล่าวจะมุ่งใช้เฉพาะกิจกรรมแพร่ภาพทางสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความประสงค์ในทางการพาณิชย์ หรือมีลักษณะที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมจำนวนมาก หากเป็นการแพร่ภาพเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลหรือประโยชน์ในทางราชการก็ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตในการเผยแพร่

ใบอนุญาตดังกล่าว จะต้องมีการนำไปใช้เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งหากไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว แพลตฟอร์มจะต้องไม่อนุญาตให้มีการแพร่ภาพ

ทั้งนี้จะต้องใช้ระบบเทคโนโลยีที่ตรวจสอบใบอนุญาตก่อนเริ่มทำการแพร่ภาพในทุกกรณี โดยหน้าที่ในการตรวจสอบดังกล่าวจะต้องมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อให้ทุกแพลตฟอร์ม จะต้องดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาตก่อนทำการเผยแพร่ทุกครั้ง

หากสามารถทำได้เช่นนี้ จะทำให้การเผยแพร่และใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประเทศไทย มีการควบคุมให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง และไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของผู้บริโภค และเป็นการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิผู้บริโภคและสิทธิของผู้ประกอบการ ที่มีความเหมาะสมเพียงพอผ่านการควบคุมของรัฐ และยังทำให้การจัดระเบียบของรัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1052522


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210