สทน.จับมือ สช.วท.เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการด้านนิวเคลียร์

Loading

สทน.จับมือ สช.วท. ลงนามความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ ลุยส่งเสริมศักยภาพบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สาขานิวเคลียร์ อัพเกรดสู่มาตรฐานสากล

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า สทน. และ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และพัฒนาส่งเสริมศักยภาพของผู้ขอรับใบอนุญาตและผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมสาขานิวเคลียร์ให้มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมาตรฐานสากล โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ลงนามร่วมมือ หลังจากนี้จะสามารถขยายเวลาความร่วมมือออกไปทุก ๆ 3 ปี

ทั้งนี้สทน.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในแขนงต่าง ๆ โดยจะสนับสนุนภารกิจของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ในส่วนของการพัฒนาหลักสูตรการอบรมและกำหนดหลักเกณฑ์การทดสอบความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับมาตรฐานเพื่อการขอรับใบอนุญาต สาขานิวเคลียร์ พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูลวิชาการ บุคลากร เครื่องมือ ตลอดจนการอบรม การบริการวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับด้านนิวเคลียร์

“เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถยกระดับวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขานิวเคลียร์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถควบคุมมิให้ผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถเข้ามาประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมบุคคลเหล่านั้น อาจทำให้เกิดความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนและสังคมโดยรวมได้”

สำหรับการร่วมมือแบบบูรณาการทางด้านวิชาการ ประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ

1. การฝึกอบรม และการวางเกณฑ์กำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางด้านนิวเคลียร์เพื่อให้เกิดข้อกำหนดต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจะเป็นการเอาความถนัด ความรู้ ความสามารถ ทั้งสองหน่วยงานนี้มาเสริมกัน ทั้งเรื่องของการขยายการอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต่อยอดสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่รับใบอนุญาตแล้วยังมีองค์ความรู้ มีจริยธรรม  มีข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรจะรู้เกี่ยวกับขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านนิวเคลียร์ที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของหลักเกณฑ์ ในเรื่องของใบรับรองวิชาชีพ ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด

2. การนำข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานสูงที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดกับความปลอดภัยของการทำงานในกิจกรรมนั้น ๆ

ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 7,000 คน  มีสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ ฯ ทั้งหมด 8 สาขา ทั้งนี้ในอนาคตก็คงจะเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์

นอกจากนี้สภาวิชาชีพนั้นเป้าหมายหลักคือเน้นความปลอดภัยชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้ง เทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็เป็นหนึ่งใน 8 สาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการควบคุม  ที่จะส่งเสริมศักยภาพงานด้านนี้ให้พัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยกับชีวิตทรัพย์สินของประชาชน

รองศาสตราจารย์ พล.ต.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยควรใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ นอกเหนือจากการใช้ฟอสซิลหรือแร่อื่น ๆ เพราะในอนาคตคงหนีไม่พ้น เนื่องจากขณะนี้ทางด้านการแพทย์มีการพัฒนานำเทคโนโลยีเหล่านี้มาให้บริการแก่ประชาชนแล้ว เหลือแต่ทางด้านพลังงานเท่านั้น

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/555055


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210