ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นจากการผลิตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี นอกจากโทรศัพท์มือถือที่กลายเป็นอุปกรณ์ที่หลายคนขาดไม่ได้แล้ว ยังมีเทคโนโลยีซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอและวิทยาการหุ่นยนต์ซึ่งน่าจับตามองอีกจำนวนมาก…
ภายในงาน “Digital Transformation Summit 2022” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมซีไอโอไทย (Thai Chief Information Officer Association: TCIOA) โดย OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP หยิบยกมุมมองและประสบการณ์ในการพัฒนา Artificial intelligence (AI) และวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) จากภายในงาน “Digital Transformation Summit 2022”
สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดมุมมองว่า ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่คุ้นชินกับหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ จากการพบเห็นในชีวิตประจำวัน และเทรนด์ของโลกกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับด้านหุ่นยนต์มากขึ้น
เนื่องจากหุ่นยนต์สามารถเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ความท้าทายและโอกาส (Challenges and opportunities) ของการพัฒนาหุ่นยนต์ เกิดจากปัจจัยที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจงานที่ต้องใช้แรงงานน้อยลง (Aging Society)
โควิด-19’ ปัจจัยเร่งสำคัญ
ถึงแม้ว่าองค์กรจะพร้อมในด้านการเงินก็อาจจะยังไม่สามารถจ้างงานได้ ซึ่งส่งผลกระทบก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน (Labor Shortage) และการว่างงานของเด็กรุ่นใหม่ (Jobless growth) เนื่องจากสิ่งที่เรียนมาไม่ตรงตามความต้องการของเทรนด์โลก
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านค่าแรงที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ (minimum wage) ก็มีส่วนทำให้องค์กรต่างๆเริ่มพิจารณาถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้ ส่งผลให้ในปัจจุบัน ความต้องการทางด้านหุ่นยนต์มีสูงขึ้น (Big demands on automation and robot) เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 นั้น ที่มีข้อจำกัดในการทำงานร่วมกัน ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา การแพทย์ งานบริการ งานบันเทิง อุตสาหกรรม และรวมไปถึงการใช้งานส่วนบุคคล
ที่ผ่านมา การนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวโน้มในการเพิ่มการผลิต เช่น การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตสินค้าทดแทนแรงงานของคน และแนวโน้มการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการแพทย์สำหรับการให้คีโมมะเร็ง เพื่อป้องกันความเสียหายของเซลล์ เป็นต้น
เชื่อมโยงทุกมิติชีวิต-ทำงาน
เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เผยว่า ในยุคของดิจิทัลนั้น ข้อมูลที่รวบรวมไว้ล้วนสัมพันธ์กับยุคของเอไอที่ต้องการข้อมูลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและการทำงาน
โดยเอไอได้เข้ามาช่วยสนับสนุนและตัดสินใจในเรื่องบางอย่างให้กับผู้คน สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ที่มีการสั่งงานด้วยเสียง ช่วยวิเคราะห์และหาเส้นทาง สมาร์ทโฮม รวมถึงโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันสามารถปรับโหมดต่างๆ ได้อัตโนมัติ ฯลฯ
หากมองไปในภาคธุรกิจต่างๆ เอไอมีผลกับทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาด้านภาษา การเชื่อมโยงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงทางวัฒธรรม และอนาคตความต้องการทางด้านเอไอและหุ่นยนต์จะมีมากขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมชีวิตให้ดีขึ้นยิ่งขึ้น
โชว์เคสต่อยอด ใช้งานได้จริง
สำหรับตัวอย่างการใช้งานจริง บริษัทขนมแห่งหนึ่งได้ออกแบบกล่องขนม โดยการใส่ QR CODE บนกล่อง ซึ่งผู้บริโภคสามารถสแกนผ่านโทรศัพท์มือถือ และร่วมเล่นกิจกรรม ซึ่งนอกจากผลเชิงการตลาด กิจกรรมที่จัดทำนี้ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์ในการฝึกทักษะ logic และ sequence ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดการเรียนรู้ด้านเอไอได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการทดลองโดยการนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วยวิเคราะห์บทเรียนและสรุปเนื้อหาสำคัญ เพื่อให้เด็กได้อ่านคร่าวๆก่อนจะเข้าสู่บทเรียน เมื่อเข้าสู่บทเรียนเด็กจะสามารถจดจ่อกับเรื่องสำคัญได้มากขึ้น
ปัจจุบัน เอไอยังมีส่วนช่วยให้การทำงานด้านภาษาสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ในสายงานเกี่ยวกับข่าว สามารถนนำเอไอเข้ามาช่วยสรุปข่าว และวิเคราะห์ภาษาไทย มากไปกว่านั้นเอไอยังสามารถถอดบทความในที่ประชุมได้ ขณะที่ทุกคนนั่งในที่ประชุมเอไอสามารถแยกเนื้อหาและคำพูดของแต่ละบุคคลได้
ด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยเอง มีข้อมูลเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมมากมาย หากนำเอไอเข้ามาใช้ จะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
แหล่งข้อมูล