พลังงาน ลดขั้นตอนขอใบอนุญาต รับยอดขอติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” พุ่ง ในยุคค่าไฟแพง

Loading

อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เผย หลังจากมีการยื่นขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น จึงได้มีการปรับลดขั้นตอนต่างๆ ลง เพื่อให้คล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิม 60 วัน ปรับลดขั้นตอนและเวลาเหลือ 30 วัน

จากกรณีที่มีการประกาศปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 4.72 บาท ต่อหน่วย แม้ต่อมา ครม.จะมีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 500 หน่วยขึ้นไป ก็ยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเต็ม ประกอบกับจากสถานการณ์วิฤตพลังงาน ทำให้แนวโน้มค่าไฟฟ้ามีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีกในงวดต่อๆ ไป หรือในอนาคต ถึงแม้วิกฤตพลังงานอาจจะทุเลาลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่หากยังไม่ได้รับการแก้ไข อาทิ ปัญหาด้านค่าความพร้อมจ่าย ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกปรับลดลงมาต่ำกว่าหน่วยละ 4 บาทได้

และจากปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการประชุมชี้แจงการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นการออกแบบใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งมี ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม ก็ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีประชาชนยื่นคำร้องขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น พพ. จึงได้มีการลดขั้นตอนต่างๆ ลง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ดร.ประเสริฐ ระบุว่า “ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 200 kVA ขึ้นไป (ประมาณ 200 kW) ต้องมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ (พค.1) และแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และทาง กกพ. นำส่ง พพ. พิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะติดตั้ง

“โดยที่ผ่านมาได้มีการยื่นคำขอใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 150 รายต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นคำขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ทำให้กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นเดิมไม่สามารถรองรับต่อปริมาณคำขอที่เพิ่มขึ้น

“พพ. จึงได้มีการปรับลดกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ใหม่ให้กระชับและระยะเวลาที่เร็วขึ้นด้วยการใช้วิธีรองรับข้อมูลด้วยตนเองโดยวิศวกรที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ พพ. (Self-Declaration)

“ซึ่งจากเดิมกระบวนการให้ความเห็นของ พพ. จะใช้เวลาในการตรวจแบบส่งข้อมูลและตรวจแบบด้วยการ live ณ สถานที่ติดตั้ง , ตรวจหน้างานจริง (non-solar) ซึ่งรวมระยะเวลากว่า 60 วัน และการปรับกระบวนการใหม่จะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ยื่นคำขอได้มีการผลิตและการใช้พลังงานที่เร็วขึ้น

“ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการผลิตพลังงานควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง พพ.จึงได้ออกประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ประกอบการให้ความเห็นการออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

“และประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยให้เกิดความคล่องตัว และทันต่อสถานการณ์การปรับตัวต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น”

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/keep-the-world/energy/830322


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210