“องค์ประกอบ 10 ด้าน” สู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ”

Loading

นิยามและความหมายของ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City)

“เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart City หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนผู้อยู่อาศัย บริการชุมชน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดการบริโภคของประชากรอย่างมีประสิทธิภาพ

“เมืองอัจฉริยะ” คือ เมืองที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบ วิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ของประชาชนอย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต การป้องกันสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในที่สาธารณะ การบริการภายในเมือง การดำเนินการด้านอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง ในการจัดการการบริหารงานของเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน เสริมสร้างความสามัคคี และความยั่งยืนของเมือง

“เมืองอัจฉริยะ” เป็นโครงการที่พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย โดยการเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองมีความสะดวกสบายเหมือนเมืองในฝันที่เกิดขึ้นได้จริง ทั้งยังทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกันด้วย แนวคิด Smart City เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นรากฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบๆ ตัวเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารแบบอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการวางผังเมืองที่ชาญฉลาด รองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย

รูปแบบการบริหารจัดการเมืองแบบ Smart City เป็นการสร้างเมืองที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และเลือกใช้พลังงานสะอาด จึงช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ การระบายน้ำ ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี คุณภาพอากาศที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Heat Island Effect)

การที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบ จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้

1 Smart Mobility การคมนาคมอัจฉริยะ
2 Smart Community ชุมชนอัจฉริยะ
3 Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ
4 Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ
5 Smart Governance การปกครองอัจฉริยะ
6 Smart Building อาคารอัจฉริยะ
7 Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ
8 Smart Education การศึกษาอัจฉริยะ
9 Smart City Security การรักษาความมั่นคงของเมืองอัจฉริยะ
10 Smart Medicine การแพทย์อัจฉริยะ

เส้นทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศจีน

เขียนโดย “สถาบันวิจัยการพัฒนาเมืองและภูมิภาคแห่งประเทศจีน”

กระแสการพัฒนาเมืองภายใต้แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart City เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2008 และได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมจากนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของความเป็นเมืองของประเทศจีนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในเมืองได้ในทุกมิติ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองและการขยายตัวของความเป็นเมืองในประเทศจีน

ในปี ค.ศ. 2021 “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14” ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “หลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จะต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน และมุ่งส่งเสริมการนำระบบเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมาประยุกต์ใช้จริงกับชีวิตประจำวัน ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ Internet of Things (IoT) สร้างระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ ส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและอาคารสาธารณะของเทศบาล พัฒนาแบบจำลองสารสนเทศเมือง พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ สำรวจ และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้สร้าง “เมืองที่ชาญฉลาด” ร่วมกับการวางแผนและดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล และระบบนิเวศดิจิทัล เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็น “เมืองที่ชาญฉลาด” อย่างแท้จริง

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทของจีน เริ่มประกาศรายชื่อ “เมืองอัจฉริยะ” นำร่อง 3 กลุ่มอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม 290 เมืองใน 31 มณฑล ข้อมูล ณ สิ้นปี ค.ศ. 2019 จีนได้ประกาศ “เมืองอัจฉริยะนำร่องแห่งชาติ” มากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ

“เมืองอัจฉริยะ” ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีก ได้แก่ เทคโนโลยี 5G บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง บล็อคเชน AI IoT และเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อื่นๆ ในรูปแบบของการบูรณาการทุกภาคส่วน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างและพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ”

China Real Estate News “สถาบันวิจัยการพัฒนาเมืองและภูมิภาคแห่งประเทศจีน” และ “มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์กลาง” รายงานสถานการณ์การพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” ในประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ใน “รายงานการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของจีนประจำปี ค.ศ. 2021” ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาและนโยบายของเมืองอัจฉริยะของจีน วิวัฒนาการและประสบการณ์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในสถานที่ต่างๆ และการวิเคราะห์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในเชิงลึก ได้แก่

1 นโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศจีน (China’s Smart City)

ในช่วงที่ประเทศจีนอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาการปกครองทั้งรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ ประชากรในเขตเมืองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในอัตราเร่ง รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเมืองของประเทศจีน

โดยนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของจีน สามารถแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 ปี ค.ศ. 2008 ถึง 2012

เป็นการเริ่มต้นนำแนวคิดของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมาปรับใช้ โดยมุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมอย่างชาญฉลาด

ระยะที่ 2 ปี ค.ศ. 2012 ถึง 2015

เข้าสู่ช่วงการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ด้วยการบูรณาการระดับภาค โดยในระยะนี้ ได้มีการดำเนินงานนำร่องสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย และยั่งยืน โดยแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศจีน และมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในปี ค.ศ. 2015

โดยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.2015 มีการจัดงาน World Internet Conference (Wuzhen Summit) โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งได้กล่าวถึงหลักการเกี่ยวกับการส่งเสริมระบบการจัดการของอินเตอร์เน็ตของโลก และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างชุมชนร่วมกันในโลกของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเมืองอัจฉริยะของประเทศจีน โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเมืองอัจฉริยะดังต่อไปนี้

1 เร่งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายระบบอินเตอร์เน็ตให้มีความเร็วมากขึ้น
2 พัฒนาด้านนวัตกรรมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจเครือข่าย
3 เพิ่มความปลอดภัยให้การใช้ระบบอินเตอร์เน็ต

โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1 ใช้วิธีการทางวิศวกรรมจัดตั้งระบบที่เป็นสาธารณะ เพื่อวางแนวทางของการก่อสร้างและการพัฒนาของเมืองอัจฉริยะ
2 พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการก่อตั้งเมืองอัจฉริยะ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
3 สร้างแพลตฟอร์มให้บริการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การจัดการของเมืองและการบริการสาธารณะมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น
4 พัฒนาระบบข้อมูลที่เปิดเผยและใช้ร่วมกันได้โดยจัดข้อมูลต่าง ๆ ให้มีระเบียบมากขึ้น เพื่อให้การบริหารของเมืองมีแนวโน้มไปในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น
5 พัฒนาศูนย์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานงานและจัดการช่วยเหลือในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในเมือง ความปลอดภัยสาธารณะ สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจมหภาค และทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น
6 พัฒนาระบบแบบครบวงจร ที่จะช่วยให้เมืองอัจฉริยะดำเนินไปอย่างมีระเบียบ มีมาตรฐาน และมีการพัฒนาอย่างถูกต้อง โดยให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการติดตามสถานกาณ์จริงของแต่ละเมือง จัดการกับปัจจัยต่างๆ และวางแผนการจัดการต่างๆ ภายในเมือง

ระยะที่ 3 ปี ค.ศ. 2016 ถึง ปัจจุบัน

เป็นการต่อยอดจุดแข็งของแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เสริมสร้างการดำเนินงานและการประสานงานร่วมกันทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบมากขึ้น และมองหาวิธีการทางเทคนิคในการเข้าสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในรูปแบบใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างรูปแบบการพัฒนาโดยรวมของสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในเมือง และสร้างแพลตฟอร์มจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างธุรกิจ วางแผนจัดการพื้นที่เมืองอย่างเป็นระบบและการบริหารจัดการในรูปแบบของความเป็นเมืองสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G บิ๊กดาต้า และ AI ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และเสริมสร้างรูปแบบบริการอัจฉริยะที่แพร่หลาย เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสถึงความเป็นเมืองอัจฉริยะและตอบสนองความต้องการต่างๆ ของผู้คนอย่างชาญฉลาดมากขึ้นนั่นเองครับ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/09/21/10-components-of-a-smart-city/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210